เตย

Pandanus kaida Kurz

ชื่ออื่น ๆ
เตยสานเสื่อ (กรุงเทพฯ)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้นแตกกิ่ง ไม่มีรากอากาศ ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓-๔ แถว รูปแถบ ดอกแยกเพศต่างต้น ไร้วงกลีบรวม ช่อดอกออกที่ปลายยอด ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบ ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่นหรือช่อแยกแขนง ผลแบบผลรวม รูปทรงรี ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปกรวยกลับ ผนังผลบาง ผนังชั้นนอกเมื่อแก่สีแดงอมส้ม ผนังชั้นในมีเส้นใยสีน้ำตาล มีเมล็ด ๑-๔ เมล็ด

เตยเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๑-๓ ม. ลำต้นแตกกิ่ง ไม่มีรากอากาศ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็น ๓-๔ แถว รูปแถบ กว้าง ๓-๕ ซม. ยาวประมาณ ๑ ม. พบบ้างที่ยาวได้ถึง ๔ ม. ปลายเรียวแหลมยาวเป็นรูปแส้ ขอบใบและเส้นกลางใบมีหนาม บริเวณโคนใบมีหนามห่าง ๆ ยาวได้ถึง ๖ มม. โค้งขึ้น บริเวณกลางใบมีหนามค่อนข้างสั้น และค่อย ๆ เล็กลงไปยังปลายใบ แผ่นใบหนา ด้านล่างมีนวล เส้นใบเรียงแบบขนานถี่ตามยาว มีได้ถึง ๑๓๐ เส้น เห็นเด่นชัด โดยเฉพาะทางด้านล่าง

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกเพศผู้แบบช่อเชิงลดมีกาบเชิงประกอบ ออกที่ปลายยอด ประกอบด้วยช่อเชิงลดหลายช่อ แต่ละช่อดอกยาวประมาณ ๑๐ ซม. กาบช่อดอกคล้ายรูปเรือ สีขาวหรือสีขาวนวล บริเวณส่วนโคนกว้างประมาณ ๔.๕ ซม. ยาวประมาณ ๔๕ ซม. ไร้วงกลีบรวม ดอกเพศผู้มักมีเกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร อาจมีดอกเพศผู้ ๒-๓ ดอกที่มีเกสรเพศผู้มากกว่า ๒๐ เกสร ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดที่โคน ยาวประมาณ ๗ มม. ส่วนก้านชูอับเรณูที่แยกเป็นอิสระยาวประมาณ ๑ มม. อับเรณูรูปทรงรีแคบหรือรูปแถบ กว้างประมาณ ๐.๗ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายมีรยางค์แหลมแข็ง ยาวประมาณ ๐.๕ มม. โคนรูปเงี่ยงใบหอก ช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุกแน่นหรือช่อแยกแขนง มี ๑-๕ ช่อ พบน้อยที่มีได้ถึง ๗ ช่อ ช่อดอกยาวได้ถึง ๕๐ ซม. มีกาบช่อดอกคล้ายรูปเรือจำนวนมาก กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๑๔-๒๐ ซม. แต่ละช่อรูปทรงรีแกมรูปขอบขนานหรือทรงรูปไข่ถึงรูปทรงค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๑๕ ซม. ยาว ๒๐-๒๕ ซม. ดอกจำนวนมาก เกสรเพศเมียจำนวนมาก แยกเป็นกลุ่มย่อยรูปคล้ายลิ่ม ๕-๗ เหลี่ยม กว้าง ๑-๒.๔ ซม. ยาว ๔-๕ ซม. เชื่อมกันเป็นกลุ่ม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑-๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียสั้น ปลายแยกเป็น ๒ แขนง แต่ละแขนงจักฟันเลื่อยถี่

 ผลแบบผลรวม รูปทรงรี ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง มีประมาณ ๑๕๐ ผล รูปกรวยกลับ กว้างประมาณ ๑.๗ ซม. ยาวประมาณ ๓ ซม. ผนังผลบาง ผนังชั้นนอกเมื่อแก่สีแดงอมส้ม ผนังชั้นกลางมีเส้นใยสีน้ำตาล ผลย่อยที่ยื่นออกมาส่วนปลายเป็น ๕ เหลี่ยม มียอดเกสรเพศเมียปลายแตกเป็นแขนงฟันเลื่อยถี่ ๒ แขนง ติดทน มีเมล็ด ๑-๔ เมล็ด ยาว ๐.๘-๑ ซม.

 เตยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลาง ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่จีน เวียดนาม และกัมพูชา

 ประโยชน์ ใช้ปลูกเป็นแนวรั้ว ยอดอ่อนรับประทานได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เตย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pandanus kaida Kurz
ชื่อสกุล
Pandanus
คำระบุชนิด
kaida
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1834-1878)
ชื่ออื่น ๆ
เตยสานเสื่อ (กรุงเทพฯ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์