เดื่อหว้า

Ficus auriculata Lour.

ชื่ออื่น ๆ
เดื่อหลวง (เหนือ); ตะกือเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ไทรโพ (กลาง); มะเดื่อชุมพร (ยะลา); มะเดื่อหว้า (กาญจนบุรี); ฮากอบาเด๊าะ (มลายู-นราธิวาส)

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ทุกส่วนมียางสีขาวขุ่น ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปหัวใจ หูใบหุ้มยอด อ่อนรูปใบหอก ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกคล้ายผลรวมในโพรงฐานช่อดอก รูปทรงเกือบกลมถึงแป้นหรือ เกือบคล้ายผลแพร์ ออกตามกิ่ง ตามต้น หรือตามไหลที่ทอดเลื้อยตามพื้นดิน เกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่มสีขาวหรือสี เทา ผลแบบผลรวมในโพรงฐานช่อดอก รูปทรงเกือบกลมถึงเกือบคล้ายผลแพร์ สุกสีส้มแกมสีแดงถึงสีแดง หรือสีน้ำตาลแกมสีแดง ผลย่อยแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก


     เดื่อหว้าเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. เปลือกเรียบ สีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแกมสีเทา กิ่งอ่อนเกลี้ยง หรือมีขนสั้นนุ่มสีขาวหรือสีเทา กิ่งแก่เกลี้ยง ทุกส่วนมียาง สีขาวขุ่น
     ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ รูปรี รูปขอบขนาน หรือ รูปหัวใจ กว้าง ๓-๓๒ ซม. ยาว ๖-๔๐ ซม. ปลายแหลม โคนกลมหรือเว้ารูปหัวใจ ขอบหยักซี่ฟัน แผ่นใบหนา คล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างเกลี้ยงหรือมีขน สั้นนุ่มสีขาวตามเส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๗ เส้น เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได ก้านใบยาว ๒-๓๐ ซม. เกลี้ยง หรือมีขนสั้นนุ่มสีขาวหรือสีเทา หูใบหุ้มยอดอ่อนรูปใบหอก ยาว ๑.๕-๓ ซม. เกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่มสีขาว สีเทา หรือสี น้ำตาลอ่อน
     ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกคล้ายผลรวมใน โพรงฐานช่อดอก รูปเกือบกลมถึงแป้นหรือเกือบคล้ายผล แพร์ ออกตามกิ่ง ตามต้น หรือตามไหลที่ทอดเลื้อยตาม พื้นดิน กว้าง ๓.๕-๑๐ ซม. เกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่มสีขาว หรือสีเทา ก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๘ ซม. ปลายช่อดอก มีช่องเปิด รอบปากช่องเปิดมีใบประดับล้อมรอบเป็นวง ใบประดับรูปลิ่ม ๓ ใบ ยาว ๑-๗ มม. ติดบนก้านช่อดอก ดอกขนาดเล็กจำนวนมากอยู่ภายในโพรงฐานช่อดอก กลีบรวมสีขาว ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๒ เกสร ดอก เพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียติดด้านข้างของรังไข่ เกลี้ยงหรือ มีขนปกคลุมบริเวณใกล้ปลายก้าน ยอดเกสรเพศเมียเป็น รูปปากแตร

 

 

 


     ผลแบบผลรวมในโพรงฐานช่อดอก รูปทรงเกือบ กลมถึงเกือบคล้ายผลแพร์ กว้าง ๓.๕-๑๐ ซม. สุกสีส้ม แกมสีแดงถึงสีแดงหรือสีน้ำตาลแกมสีแดง เกลี้ยงหรือมี ขนสั้นนุ่มสีขาวหรือสีเทา ก้านผลรวมยาวได้ถึง ๘ ซม. ผลย่อยแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก
     เดื่อหว้ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบในป่าดิบชื้น ป่าดิบ แล้ง ป่าดิบเขา และป่าผสมผลัดใบ ที่สูงจากระดับทะเล ประมาณ ๑,๖๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ส่วนใหญ่ออกในช่วงฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว ประมาณเดือน มิถุนายนถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน ปากีสถาน เมียนมา จีนตอนใต้ ภูมิภาค อินโดจีน และคาบสมุทรมาเลเซีย.

 

 

 

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เดื่อหว้า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ficus auriculata Lour.
ชื่อสกุล
Ficus
คำระบุชนิด
auriculata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Lour.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Lour. ช่วงเวลาคือ (1717-1791)
ชื่ออื่น ๆ
เดื่อหลวง (เหนือ); ตะกือเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ไทรโพ (กลาง); มะเดื่อชุมพร (ยะลา); มะเดื่อหว้า (กาญจนบุรี); ฮากอบาเด๊าะ (มลายู-นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ภานุมาศ จันทร์สุวรรณ และ ผศ. ดร.จิรายุพิน จันทรประสงค์
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.