เดื่อขุนตาล

Ficus anserina (Corner) C. C. Berg

ไม้เถา มีรากอากาศออกตามข้อสำหรับยึดเกาะ กิ่งมีขนนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น ทุกส่วนมียาง ใบเดี่ยว เรียงเวียน หรืออาจเรียงเกือบตรงข้าม รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ หูใบหุ้มยอดอ่อนรูปไข่แกมรูปใบหอก สีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมเหลือง ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกคล้ายผลรวมในโพรงฐานช่อดอก มักออกเดี่ยว ตามซอกใบหรือออกที่กิ่งสั้นดูคล้ายออกใต้ใบ ช่อดอกเป็นกระเปาะ ปลายกระเปาะมีช่องเปิด ผลแบบผลรวมใน โพรงฐานช่อดอก รูปทรงเกือบกลม ทรงรูปไข่กลับ หรือรูปทรงรี สุกสีเหลืองอมเขียว สีเหลือง หรือสีแดง มีขนนุ่ม หนาแน่นสีน้ำตาล ผลย่อยแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก


     เดื่อขุนตาลเป็นไม้เถา มีรากอากาศออกตามข้อ สำหรับยึดเกาะ กิ่งมีขนนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น ทุกส่วนมียาง
     ใบเดี่ยว เรียงเวียนหรืออาจเรียงเกือบตรงข้าม รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๑๐-๒๐ ซม. ยาว ๒๔-๔๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมน หรือเว้า รูปหัวใจ ขอบเรียบ ด้านบนสีเขียวเข้ม มีขนสีน้ำตาลตาม เส้นใบ ด้านล่างสีจางกว่า มีขนสีน้ำตาลหนาแน่นตามเส้น ใบ และมีผลึกหินปูน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น ปลาย เส้นโค้งจดเส้นถัดไปใกล้ขอบใบ เส้นแขนงใบที่อยู่ใกล้โคน ใบมักยาว ๑ ใน ๔ ถึงครึ่งหนึ่งของความยาวแผ่นใบ มีต่อม ผิวมันขนาดเล็กที่ซอกระหว่างเส้นกลางใบกับโคนเส้น แขนงใบเส้นล่างสุดที่อยู่ใกล้โคนใบ พบน้อยที่อยู่ตามบาง ซอกระหว่างเส้นกลางใบกับเส้นแขนงใบเส้นอื่น เส้นใบ ย่อยคล้ายขั้นบันได เห็นเด่นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๕-๒ ซม. มีขนสีน้ำตาล หูใบหุ้มยอดอ่อนรูปไข่แกมรูป ใบหอก ยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. สีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมเหลือง ค่อนข้างติดทนหรือร่วงง่าย
     ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกคล้ายผลรวมใน โพรงฐานช่อดอก มักออกเดี่ยวตามซอกใบหรือออกตาม กิ่งสั้นดูคล้ายออกใต้ใบ ช่อดอกเป็นกระเปาะ รูปทรงเกือบ กลม ทรงรูปไข่กลับ หรือรูปทรงรี กว้าง ๒.๕-๕ ซม. โคน กระเปาะไม่คอดเป็นก้านหรือคอดเรียวคล้ายก้านยาวได้ ถึง ๑.๕ ซม. มีขนนุ่มหนาแน่นสีน้ำตาล ปลายกระเปาะ มีช่องเปิดกว้าง ๓-๔ มม. ก้านช่อยาว ๑.๕-๔ ซม. ใบประดับ ๓ ใบ ยาว ๓-๕ มม. ดอกมีจำนวนมากและมี ขนาดเล็กมาก อยู่ค่อนข้างหนาแน่นภายในโพรงฐานช่อ ดอก แต่ละดอกมีกลีบรวมสีแดง ช่อดอกเพศผู้มีดอกเพศ ผู้ที่สมบูรณ์ และมีดอกเพศเมียที่เป็นหมันซึ่งมีก้านยอด เกสรเพศเมียสั้น ช่อดอกเพศเมียมีดอกเพศเมียที่สมบูรณ์ ซึ่งมีก้านยอดเกสรเพศเมียยาว และมักมีดอกไร้เพศปะปน อยู่ด้วย ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มี ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียติดด้านข้างของรังไข่ เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นรูปลิ่มแคบ
     ผลแบบผลรวมในโพรงฐานช่อดอก รูปทรงเกือบ กลม ทรงรูปไข่กลับ หรือรูปทรงรี กว้าง ๒.๕-๕ ซม. สุก สีเหลืองอมเขียว สีเหลือง หรือสีแดง มีขนนุ่มสีน้ำตาล หนาแน่น ผลย่อยแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก
     เดื่อขุนตาลมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศ ไทยทางภาคเหนือ พบตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับ ทะเลถึงประมาณ ๑,๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบ ตลอดปี ในต่างประเทศพบที่จีน (ยูนนาน) และลาว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เดื่อขุนตาล
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ficus anserina (Corner) C. C. Berg
ชื่อสกุล
Ficus
คำระบุชนิด
anserina
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- (Corner)
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (Corner) ช่วงเวลาคือ (1891-1960)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.