เดื่อขนดก

Ficus triloba Buch.-Ham. ex Voigt

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น กิ่งอ่อนมีขนแข็งสีน้ำตาลจำนวนมากและมีหลายลักษณะปะปนกัน ปล้องมักกลวง ทุกส่วนมียาง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปหัวใจ รูปไข่ รูปเกือบกลม หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน มีขน ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอก คล้ายผลรวมในโพรงฐานช่อดอก ออกเป็นคู่หรือออกเดี่ยวตามซอกใบ ช่อดอกเป็นกระเปาะ รูปทรงรี ทรงรูปไข่ หรือรูปทรงค่อนข้างกลม มีขนสีน้ำตาล ปลายกระเปาะมีช่องเปิด และมีใบประดับจำนวนมากเรียงซ้อนคล้ายกลีบ กุหลาบรอบปากช่องเปิด หรือมีขนแข็งสีน้ำตาลหรือสีออกขาวหนาแน่นรอบปากช่องเปิด ผลแบบผลรวมในโพรง ฐานช่อดอก รูปทรงรี ทรงรูปไข่ หรือรูปทรงค่อนข้างกลม มีขนสีน้ำตาล ผลย่อยแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก


     เดื่อขนดกเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. กิ่งอ่อนมีขนแข็งสีน้ำตาลจำนวนมากและมีหลายลักษณะ ปะปนกัน ปล้องมักกลวง ทุกส่วนมียาง
     ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปหัวใจ รูปไข่ รูปเกือบกลม หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑๐-๒๕ ซม. อาจพบ กว้างได้ถึง ๔๐ ซม. ยาว ๑๐-๓๒ ซม. อาจพบยาวได้ถึง ๔๒ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนเว้ารูปหัวใจ ขอบหยักซี่ฟัน หรือหยักเว้า ๓-๗ หยัก แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนสี เขียว มีขนแข็งสีน้ำตาล ด้านล่างสีจางกว่า มีขนหนาแน่น สีขาว ไม่มีผลึกหินปูน เส้นโคนใบมักยาวครึ่งหนึ่งถึง ๒ ใน ๓ ของความยาวแผ่นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๕ เส้น ปลายเส้นโค้งจดใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได เส้นใบด้านบนเรียบหรือสาก เห็นเด่นชัดทางด้านล่าง และ มีขนแข็งสีน้ำตาลหรือสีออกขาว มีต่อมผิวมันขนาดเล็กที่ ซอกระหว่างเส้นกลางใบกับเส้นโคนใบ หรือตามบางซอก ของเส้นแขนงใบ ก้านใบยาว ๕-๑๕ ซม. พบน้อยที่ยาวเพียง ๒ ซม. มีขนแข็งปะปนกับขนนุ่มสีออกขาว โคนก้านใบมัก มีต่อมผิวมันขนาดเล็ก ๑ คู่ หูใบหุ้มยอดอ่อนรูปใบหอก หรือรูปแถบแกมรูปใบหอก ยาว ๑-๒.๕ ซม. อาจพบยาว ได้ถึง ๕ ซม. มีขนหลายลักษณะปะปนกัน สีออกขาว ที่ โคนหูใบและสันกลางมีขนแข็งสีน้ำตาล ร่วงง่ายหรือค่อนข้าง ติดทน
     ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกคล้ายผลรวมใน โพรงฐานช่อดอก ออกเป็นคู่หรือออกเดี่ยวตามซอกใบ ช่อ ดอกเป็นกระเปาะ รูปทรงรี ทรงรูปไข่ หรือรูปทรงค่อน ข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒.๕ ซม. พบน้อยที่กว้าง ได้ถึง ๓.๕ ซม. มีขนแข็งสีน้ำตาล บางครั้งอาจมีใบประดับ ข้าง ยาวได้ถึง ๑.๕ ซม. ปลายกระเปาะมีช่องเปิดกว้าง ๕-๗ มม. รอบปากช่องเปิดมีใบประดับจำนวนมากเรียง ซ้อนคล้ายกลีบกุหลาบ ยาวประมาณ ๐.๖ มม. หรือมีขน แข็งสีน้ำตาลหรือสีออกขาวหนาแน่นรอบปากช่องเปิด โคนกระเปาะมน ก้านช่อดอกสั้นมากหรือไร้ก้าน ใบประดับ ขนาดเล็ก ๓ ใบ รูปไข่ ยาว ๐.๕-๒.๕ ซม. มีขนสีนวลหรือ สีเหลือง ตามสันมีขนแข็งสีน้ำตาล ดอกมีจำนวนมากและ มีขนาดเล็กมาก อยู่ค่อนข้างหนาแน่นภายในโพรงฐาน ช่อดอก ช่อดอกเพศผู้มีดอกเพศผู้ที่สมบูรณ์ และมี ดอกเพศเมียที่เป็นหมันซึ่งมีก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ช่อดอกเพศเมียมีดอกเพศเมียที่สมบูรณ์ ซึ่งมีก้านยอด เกสรเพศเมียยาวและมักมีดอกไร้เพศปะปนอยู่ด้วย ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียติดด้านข้างของรังไข่ ยอด เกสรเพศเมียเป็นแฉกเล็ก
     ผลแบบผลรวมในโพรงฐานช่อดอก รูปทรงรี ทรง รูปไข่ หรือรูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒.๕ ซม. พบน้อยที่กว้างได้ถึง ๓.๕ ซม. มีขนแข็งสีน้ำตาล ผล เมื่อสุกสีเหลืองหรือสีน้ำตาลแดง ผลย่อยแบบผลแห้ง เมล็ดล่อน ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก
     เดื่อขนดกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาค ตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึง ประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ เมียนมา จีน เวียดนาม ลาว มาเลเซีย และอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เดื่อขนดก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ficus triloba Buch.-Ham. ex Voigt
ชื่อสกุล
Ficus
คำระบุชนิด
triloba
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Buch.-Ham. ex Voigt
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Buch.-Ham. ช่วงเวลาคือ (1762-1829)
- Voigt ช่วงเวลาคือ (1798-1843)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.