เดือนฉาย

Gaillardia pulchella Foug.

ชื่ออื่น ๆ
ชวนชม (กรุงเทพฯ); บานเดือน (เหนือ)

ไม้ล้มลุกปีเดียว ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปแถบ รูปขอบขนาน หรือรูปช้อน ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกเดี่ยว ที่ปลายยอด วงใบประดับรูปครึ่งวงกลม ดอกย่อยในช่อมี ๒ แบบ คือ ดอกย่อยวงนอกมักเป็นหมัน รูปลิ้น สีเหลือง อมแดงถึงสีเหลืองอมม่วง ปลายสีเหลืองถึงสีส้ม หรืออาจพบสีเหลืองอมแดงหรือสีเหลืองอมม่วงทั่วทั้งดอก และ ดอกย่อยวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ รูปหลอด สีเหลืองอมม่วงหรือสีน้ำตาล มักมี ๒ สี ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปพีระมิด มีกลีบเลี้ยงติดทนแบบแพปพัสลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปใบหอก มีเมล็ด ๑ เมล็ด


     เดือนฉายเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว สูง ๑๐-๖๐ ซม. อาจมีหัวใต้ดิน มักแตกกิ่งที่โคนต้น
     ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปแถบ รูปขอบขนาน หรือ รูปช้อน กว้าง ๐.๔-๓.๕ ซม. ยาว ๕-๑๐ ซม. ปลายมน โคนโอบหุ้มลำต้น ขอบมักเรียบ อาจพบขอบหยักซี่ฟัน หรือหยักมน มีขนแข็งเอนหรือขนหยาบถึงขนอุยทั้ง ๒ ด้าน มีจุดต่อม ไม่มีก้านใบ

 


     ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกเดี่ยวที่ปลาย ยอด ช่อกระจุกแผ่เป็นรัศมี เมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ ซม. วงใบประดับรูปครึ่งวงกลม ใบประดับมี ๑๘- ๒๘ ใบหรือมากกว่า เรียง ๒-๓ ชั้น รูปสามเหลี่ยมแคบถึง รูปแถบ ยาว ๐.๖-๑.๔ ซม. ปลายสอบเรียว ขอบมีขนครุย ฐานดอกมีขนแข็ง กว้าง ๑.๕-๓ มม. ดอกย่อยในช่อมี ๒ แบบ คือ ดอกย่อยวงนอกมักเป็นหมัน รูปลิ้น มี ๘-๑๔ ดอก กลีบเลี้ยงลดรูปเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปใบหอก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกัน สีเหลืองอมแดงถึงสีเหลืองอม ม่วง ปลายแผ่ออกเป็นรูปไข่กลับ ยาว ๑.๓-๓ ซม. สีเหลือง ถึงสีส้ม หรืออาจพบสีเหลืองอมแดงหรือสีเหลืองอมม่วง ทั่วทั้งดอก ปลายสุดหยักเป็น ๒-๓ แฉก ดอกย่อยวงใน เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงลดรูปคล้าย รูปสามเหลี่ยมหรือรูปใบหอก กลีบดอกสีเหลืองอมม่วง หรือสีน้ำตาล มักมี ๒ สี โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๐.๘-๑.๒ มม. คอหลอดพองออกเป็นรูประฆังหรือรูปคนโท ยาว ๓-๔ มม. ปลายแยกเป็นหยักซี่ฟันหรือรูปไข่ ๕ หยัก ยาว ๑-๓ มม. มักสอบเรียว มีขน เกสรเพศผู้ ๕ เกสร อับเรณูเชื่อมติดกันทางด้านข้างและหุ้มก้านยอดเกสร เพศเมีย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้าน ยอดเกสรเพศเมียยาวเท่ากับหลอดกลีบดอก ยอดเกสร เพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ปลายเรียวแหลม มีเมล็ด ๑ เมล็ด
     ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปพีระมิด ยาว ๒-๒.๕ มม. ที่โคนและตามสันมีขนยาว ๑.๕-๒ มม. มีกลีบเลี้ยง ติดทนแบบแพปพัสลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปใบ หอก ๗-๘ อัน ยาว ๔-๗ มม. ด้านข้างมีเกล็ดเรียวแหลม
     เดือนฉายเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิด ในอเมริกาเหนือ นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปใน ประเทศไทย ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม เป็น ผลเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ส่วนใหญ่ชนิดที่ปลูกกัน ทั่วไป มักเป็นลูกผสมของ G. aristata Pursh กับ G. pulchella Foug.

 

 

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เดือนฉาย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Gaillardia pulchella Foug.
ชื่อสกุล
Gaillardia
คำระบุชนิด
pulchella
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Foug.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Foug. ช่วงเวลาคือ (1732-1789)
ชื่ออื่น ๆ
ชวนชม (กรุงเทพฯ); บานเดือน (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.