เซงเคง

Eriobotrya bengalensis (Roxb.) Hook. f. forma multinervata Vidal

ชื่ออื่น ๆ
เซงคง (กะเหรี่ยง–ตะวันตกเฉียงใต้)
ไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปรีหรือรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่งดอกสีขาว ผลแบบผลเทียมเนื้อนุ่ม ทรงรูปไข่ มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดรูปทรงกลม มี ๑-๒ เมล็ด

เซงเคงเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๐ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปรีหรือรูปใบหอก กว้าง ๔-๘ ซม. ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลม แหลม หรือมน โคนรูปลิ่ม ขอบจักฟันเลื่อยหยาบ แผ่นใบเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๔-๒๐ เส้น ปลายเส้นจดปลายจัก ก้านใบยาว ๒-๔ ซม. หูใบค่อนข้างติดทน

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่งเป็นช่อใหญ่ กว้างและยาว ๘-๑๒ ซม. มีขนสั้นหนานุ่มก้านดอกยาว ๓-๕ มม. ดอกสีขาว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาว ๒-๓ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแฉกมนหรือแหลม ติดทนกลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับหรือรูปเกือบกลม กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๔-๕ มม. ปลายมนหรือเว้าตื้น ก้านกลีบสั้น เกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อยที่โคนกลีบด้านในเกสรเพศผู้ประมาณ ๒๐ เกสร รังไข่กึ่งใต้วงกลีบมี ๒-๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ปลายรังไข่มีขนยาว ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๒-๓ ก้าน โคนเชื่อมติดกัน มีขนยาวนุ่ม ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก

 ผลแบบผลเทียมเนื้อนุ่ม ทรงรูปไข่ กว้างได้ถึง ๑ ซม. ยาวได้ถึง ๑.๕ ซม. ผนังผลมีเนื้อเล็กน้อยมีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดรูปทรงกลม ขนาดใหญ่ มี ๑-๒ เมล็ด

 เซงเคงอาจเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบหรือป่าดิบเขาต่ำ ที่สูงจากระดับทะเล ๖๐๐-๑,๔๐๐ ม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เซงเคง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Eriobotrya bengalensis (Roxb.) Hook. f. forma multinervata Vidal
ชื่อสกุล
Eriobotrya
คำระบุชนิด
bengalensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Hooker, Joseph Dalton
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
multinervata
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- Vidal
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Hooker, Joseph Dalton (1817-1911)
ชื่ออื่น ๆ
เซงคง (กะเหรี่ยง–ตะวันตกเฉียงใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา