เชียดตัวเมีย

Cinnamomum deschampsii Gamble

ชื่ออื่น ๆ
แตยอ (ใต้)
ไม้ต้น เปลือกเรียบ เปลือกสดมีกลิ่นหอมคล้ายการบูร ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม อาจเยื้องกันเล็กน้อยรูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีเขียวอ่อนอมเหลือง ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่กลับ โคนผลมีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดรูปคล้ายผล

เชียดตัวเมียเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. แตกกิ่งต่ำ เปลือกเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตามยาว มีช่องอากาศทั่วไป เปลือกสดมีกลิ่นหอมคล้ายการบูรกระพี้สีขาวถึงเหลืองอ่อน แก่นสีน้ำตาลอมเหลืองเนื้อละเอียด

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม อาจเยื้องกันเล็กน้อยรูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๒.๕-๔.๕ ซม. ยาว ๖-๑๒ ซม. ปลายแหลมทู่โคนมน แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมันด้านล่างสีจางหรือเป็นคราบขาว เส้นโคนใบ ๓ เส้น และไปสุดที่ปลายหรือเกือบถึงปลายใบ เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เห็นไม่ค่อยชัด ก้านใบยาวประมาณ ๑ ซม. ย่นและสีออกน้ำตาลดำเมื่อแห้ง

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๖-๑๒ ซม. มีขนนุ่มทั่วไป ดอกสีเขียวอ่อนอมเหลือง กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยยาวประมาณ ๕ มม. มีขนนุ่มทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้ ๙ เกสร พบน้อยที่มี ๖ เกสร เรียงเป็น ๓ วง พบน้อยที่มี ๒ วง วงนอกกับวงกลางอับเรณูหันหน้าเข้าหารังไข่ ส่วนวงในสุดอับเรณูหันหน้าออกจากรังไข่อับเรณูมี ๔ ช่อง มีลิ้นเปิด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่กลับ มีเยื่อหุ้ม ผลอ่อนเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. โคนผลมีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่ เมล็ดรูปคล้ายผล

 เชียดตัวเมียมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบ บนพื้นที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องตกแต่งและของใช้ที่อยู่ในร่ม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เชียดตัวเมีย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cinnamomum deschampsii Gamble
ชื่อสกุล
Cinnamomum
คำระบุชนิด
deschampsii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Gamble, James Sykes
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1847-1925)
ชื่ออื่น ๆ
แตยอ (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย