เฉียงพร้านางแอ

Carallia brachiata (Lour.) Merr.

ชื่ออื่น ๆ
แก๊ก, วงคด, องคต, (ลำปาง); ขิงพร้า, เขียงพร้า (ประจวบคีรีขันธ์); เขียงพร้านางแอ (ชุมพร); คอแห้ง, สีฟ
ไม้ต้น เปลือกสีเทาถึงสีน้ำตาลแดง เนื้อไม้สีน้ำตาลปนเหลือง บางครั้งมีรากค้ำยัน หูใบระหว่างก้านใบรูปใบหอก ประกบกันหุ้มยอดหรือปลายกิ่ง ร่วงง่าย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากรูปรี รูปขอบขนาน รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปไข่กลับ หรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจุกถึงช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือตามกิ่ง ดอกเล็ก สีขาวหรือสีเหลืองอ่อนอมเขียวก้านดอกสั้นมากหรือเห็นไม่ชัด ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงค่อนข้างกลม มีเกสรเพศผู้ติดทน เมล็ดรูปไต มี ๑-๕ เมล็ด

เฉียงพร้านางแอเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๕ ม. เปลือกสีเทาถึงสีน้ำตาลแดง เนื้อไม้สีน้ำตาลปนเหลืองเมื่อแปรรูปและทิ้งไว้นานจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเรื่อหรือสีน้ำตาลแกมแดง บางครั้งมีรากค้ำยัน

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปขอบขนาน รูปรีแกมรูปขอบขนาน รูปไข่กลับ หรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๑๐ ซม. ยาว ๕-๑๕ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนแหลมหรือสอบคล้ายรูปลิ่ม ขอบเรียบเป็นคลื่นหรือหยักซี่ฟันถึงจักฟันเลื่อย เส้นกลางใบมักเป็นร่องทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๒ เส้น แผ่นใบบางคล้ายกระดาษหรือค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยงสีเขียวเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่าและมักมีจุดสีดำเล็ก ๆ ก้านใบยาวประมาณ ๑ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปใบหอก กว้างประมาณ ๕ มม. ยาว ๑-๒.๕ ซม. ออกเป็นคู่ประกบกันคล้ายรูปกรวยหุ้มยอดหรือปลายกิ่ง ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกถึงช่อกระจุกแยกแขนงออกตามซอกใบหรือตามกิ่ง ทั้งช่อยาว ๑-๖ ซม. ช่อดอก



ก้านช่อยาว ๐.๕-๒.๕ ซม. ดอกเล็ก ก้านดอกสั้นมากหรือเห็นไม่ชัด ใบประดับและใบประดับย่อยเล็กมากกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแยกเป็น ๔-๘ แฉก รูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑.๕-๒ มม. ติดทนจนเป็นผล กลีบดอก ๕-๘ กลีบ สีขาวหรือสีเหลืองอ่อนอมเขียวรูปค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ปลายเว้าตื้นโคนเรียวคอดเป็นก้าน ขอบเป็นคลื่น เกสรเพศผู้เป็น ๒ เท่าของจำนวนกลีบดอก ติดทน มักยาวไม่เท่ากัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๒ มม. อับเรณูเล็กรูปไข่ค่อนข้างกลม จานฐานดอกเป็นวงรอบ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๕-๘ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๑.๕-๒ มม. ปลายแยกเป็น ๓-๔ แฉก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก

 ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑ ซม. ผลสุกสีแดง มีเกสรเพศผู้ติดทน เมล็ดรูปไต มี ๑-๕ เมล็ด

 เฉียงพร้านางแอมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ บางครั้งพบขึ้นตามริมแหล่งน้ำริมลำธาร หรือตามชายป่าพรุ และบนพื้นที่ราบต่ำไปจนถึงป่าดิบเขา ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๓๒๐ ม. ออกดอกเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ เป็นผลเดือนมีนาคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย และทางตอนเหนือของออสเตรเลีย

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ทำพื้นไม้และเครื่องเรือนเปลือกใช้เป็นสมุนไพร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เฉียงพร้านางแอ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Carallia brachiata (Lour.) Merr.
ชื่อสกุล
Carallia
คำระบุชนิด
brachiata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
- Merrill, Elmer Drew
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de (1717-1791)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
ชื่ออื่น ๆ
แก๊ก, วงคด, องคต, (ลำปาง); ขิงพร้า, เขียงพร้า (ประจวบคีรีขันธ์); เขียงพร้านางแอ (ชุมพร); คอแห้ง, สีฟ
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์