เฉาก๊วย

Platostoma palustre (Blume) A. J. Paton

ไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นและกิ่งเป็นสี่เหลี่ยม มีขนประปรายถึงหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ รูปใบหอกแกมรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปรี ช่อดอกแบบช่อฉัตร ออกที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีม่วงอ่อน ผลคล้ายผลย่อยเปลือกแข็งเมล็ดเดียว มี ๔ ผล สีดำ รูปทรงรีหรือรูปขอบขนาน

เฉาก๊วยเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นตั้งตรงหรือทอดนอนแล้วตั้งตรง สูงได้ถึง ๑ ม. มักแตกกิ่งก้านมาก ลำต้นและกิ่งเป็นสี่เหลี่ยม มีขนประปรายถึงหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ รูปใบหอกแกมรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปรี กว้าง ๐.๘-๒.๕ ซม. ยาว ๑-๖ ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียวขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนสากประปรายทั้ง ๒ ด้าน ตามเส้นใบด้านล่างมีขนหนาแน่นกว่า เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น เห็นชัดเจนทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ชัด ก้านใบเรียว ยาว ๐.๕-๒ ซม. มีขนประปราย

 ช่อดอกแบบช่อฉัตร ออกที่ปลายกิ่ง ช่อตั้งกว้างได้ถึง ๑ ซม. ยาวได้ถึง ๑๕ ซม. ดอกจำนวนมากเรียงเป็นกระจุกรอบแกนช่อและเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นห่างกัน ๐.๓-๑ ซม. ก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๘ ซม. ก้านดอกยาว ๒-๖ มม. เมื่อเป็นผลยาวได้ถึง ๘ มม. ก้านช่อ แกนช่อ และก้านดอกมีขนประปรายถึงหนาแน่น ใบประดับรูปใบหอก ปลายสีเขียว โคนสีม่วงแดง กว้างได้ถึง ๕ มม. ยาวได้ถึง ๒ ซม. อาจติดทนหรือร่วงง่าย ด้านบนมีขนสั้นนุ่มหรือเกือบเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มถึงมีขนอุย ดอกสีขาวหรือสีม่วงอ่อน กลีบเลี้ยงรูปปากเปิด ยาวประมาณ ๒ มม. เมื่อเป็นผลยาว ๓-๕ มม. เมื่อเป็นดอก โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง เมื่อเป็นผลลักษณะเป็นหลอดแคบ ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แบ่งเป็น ๒ ซีก ซีกบนมี ๓ แฉก ปลายแหลม เกลี้ยง ส่วนซีกล่างมี ๑ แฉก รูปขอบขนาน ปลายมนกลม เมื่อเป็นดอกสั้นกว่าซีกบน เมื่อเป็นผลอาจยาวหรือสั้นกว่าซีกบนด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม ซีกล่างอาจโค้งขึ้นปิดปากหลอดกลีบเลี้ยง ด้านนอกหลอดกลีบเลี้ยงมีเส้นตามยาวชัดเจน และมีเส้นตัดตามขวางเป็นรูปคล้ายตาราง มีขนสั้นนุ่มตามเส้น ด้านหน้าโคนหลอดพองออกเล็กน้อย กลีบดอกรูปปากเปิด ยาวประมาณ ๔ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๒ มม. โคนหลอดเป็นท่อแคบสั้น ๆ เหนือขึ้นมาขยายกว้างขึ้นด้านบนพองออกเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แบ่งเป็น ๒ ซีก ซีกบนมี ๓ แฉก แฉกกลางสั้นปลายตัดแฉกข้าง ๒ แฉก รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ปลายมน ยาวกว่าแฉกกลาง ซีกล่างมี ๑ แฉก รูปขอบขนานแกมรูปกลม ยาวประมาณ ๒ มม. โค้งเป็นแอ่งด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ที่ปลายแฉกมีขนครุยตามขอบเกสรเพศผู้ ๔ เกสร โผล่พ้นกลีบดอกและติดอยู่ที่กลีบดอกต่างระดับกัน มี ๒ เกสรติดที่โคนแฉกกลีบดอกซีกล่าง โคนก้านชูอับเรณูไม่มีรยางค์ เกลี้ยงอีก ๒ เกสร ติดใกล้โคนหลอดกลีบดอก โคนก้านชูอับเรณูมีรยางค์และมีขนสั้นนุ่ม จานฐานดอกมีด้านหนึ่งที่เจริญมากกว่าด้านอื่น ปลายมน สูงน้อยกว่ารังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกลี้ยง มี ๔ พู แต่ละพูมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียโค้ง อยู่เหนือแฉกกลีบดอกซีกล่าง ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ขนาดไม่เท่ากัน

 ผลคล้ายผลย่อยเปลือกแข็งเมล็ดเดียว มี ๔ ผล สีดำ รูปทรงรีหรือรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ มม. เปลือกมีริ้ว เมื่อเปียกน้ำเป็นเมือกเล็กน้อย

 เฉาก๊วยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามที่ค่อนข้างชื้นตามทุ่งหญ้า ริมลำธาร ชายป่า ที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่อินเดีย จีน ไต้หวัน ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ พันธุ์จากประเทศจีนและเวียดนามซึ่งมีใบบางและอ่อน นำมาตากแห้งแล้วต้มผสมกับแป้งทำเป็นของหวาน มีสีดำ เวลารับประทานใส่น้ำแข็งและน้ำเชื่อม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เฉาก๊วย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Platostoma palustre (Blume) A. J. Paton
ชื่อสกุล
Platostoma
คำระบุชนิด
palustre
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl(Karl) Ludwig von
- Paton, Alan James
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl(Karl) Ludwig von (1796-1862)
- Paton, Alan James (1963-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.สมราน สุดดี