เจ็ดช้างสารใหญ่

Lasianthus cyanocarpus Jack

ไม้พุ่ม มีขนสีน้ำตาลแดง เป็นมัน ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามระนาบเดียวกัน รูปขอบขนาน รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับแกมรูปขอบขนานหูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมเรียวแหลม มีขนยาว ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ มักออกพร้อมกันในแต่ละซอกของคู่ใบ ก้านช่อสั้นมากหรือไร้ก้าน มีดอกน้อย ใบประดับจำนวนมาก ขนาดเล็กลดหลั่นลง มีขนยาวหนาแน่น ดอกเล็ก สีขาว ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่หรือค่อนข้างกลมปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดทน ผลแก่สีน้ำเงิน มี ๔-๕ เมล็ด เมล็ดมีเกราะแข็งหุ้ม

เจ็ดช้างสารใหญ่เป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๓ ม. มีขนสีน้ำตาลแดง เป็นมัน

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามระนาบเดียวกัน รูปขอบขนาน รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๖ ซม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. พบน้อยที่ยาวได้ถึง ๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบแคบ มักเบี้ยว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม ค่อนข้างเกลี้ยงหรือมีขนสีน้ำตาลแดงอยู่ทั่วไปและค่อนข้างหนาแน่นตามเส้นใบด้านล่างสีจางกว่า มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๐ เส้น ปลายเส้นโค้งจดเส้นถัดไปใกล้ขอบใบ นูนเด่นทางด้านล่าง เส้นใบย่อยแบบขั้นบันไดเรียงค่อนข้างถี่ ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. มีขนยาว หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมเรียวแหลม ยาว ๐.๖-๑ ซม. มีขนยาว

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ช่อสั้นมาก สั้นกว่าก้านใบ มักออกพร้อมกันในแต่ละซอกของคู่ใบ ก้านช่อสั้นมากหรือไร้ก้าน มีดอก ๒-๕ ดอก ใบประดับจำนวนมาก ขนาดเล็กลดหลั่นลง ใบประดับที่อยู่รอบนอกหรือชั้นนอกรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๒-๓.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม มีขนยาวหนาแน่น ใบประดับชั้นในรูปใบหอกหรือรูปแถบ ดอกเล็ก


สีขาว เมื่อบานกว้างประมาณ ๕ มม. ยาว ๐.๖-๑ ซม. ก้านดอกสั้นมากหรือไร้ก้าน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น ๔-๕ แฉก รูปไข่หรือรูปใบหอก ปลายเรียวแหลม มีขน กลีบเลี้ยงสั้นกว่ากลีบดอกเล็กน้อย กลีบดอกยาว ๕-๘ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ภายในเกลี้ยง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูป ขอบขนานปลายมน แฉกมีขนยาวหนาแน่น เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่คอหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมากหรือไม่มี อับเรณูรูปขอบขนาน เล็กมาก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวได้ถึง ๖ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็กมาก มี ๕ พู

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่หรือค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๔-๗ มม. ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดทน ผลแก่สีน้ำเงิน มี ๔-๕ เมล็ด เมล็ดมีเกราะแข็งหุ้ม

 เจ็ดช้างสารใหญ่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวัน ออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลตั้งแต่ ๕๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เจ็ดช้างสารใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์
Lasianthus cyanocarpus Jack
ชื่อสกุล
Lasianthus
คำระบุชนิด
cyanocarpus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Jack, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1795-1822)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์