เคียนราก

Hopea latifolia Symington

ชื่ออื่น ๆ
มาตากูจิง (มลายู-ปัตตานี); เมราวัน (มลายู-นราธิวาส)
ไม้ต้น มีพูพอนหรือมีรากค้ำ ใบเดี่ยว เรียงเวียนรูปรี ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งและซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกเล็ก สีขาวหรือสีเหลืองอ่อนผลแบบผลเปลือกแข็ง รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่ ปลายมีติ่งแหลม กลีบเลี้ยงติดทนขยายเป็นปีกยาว ๒ ปีก ปีกสั้น ๓ ปีก เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

เคียนรากเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงได้ถึง ๓๕ ม. ลำต้นเปลาตรง ที่โคนมีพูพอน สูง ๑-๒ ม. หรือมีรากค้ำ เปลือกค่อนข้างเรียบ และมักแตกเป็นร่องเล็กตามยาวมียางเหนียวซึม เปลือกในสีนํ้าตาลอมชมพู กิ่งอ่อนหูใบด้านนอก ช่อดอก และกลีบเลี้ยง มีเกล็ดสีนํ้าตาล ประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี กว้าง ๒.๕-๔ ซม. ยาว ๕-๘.๕ ซม. ปลายยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่มหรือมนขอบเรียบ แผ่นใบเกลี้ยง เส้นกลางใบนูนทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๑ เส้น เรียงขนานกันปลาย โค้งขึ้นจรดเส้นลัดไปใกล้ขอบใบ มีเส้นใบแซมระหว่างเส้นแขนงใบ ก้านใบยาว ๑.๒-๑.๗ ซม. หูใบรูปใบหอก ยาวประมาณ ๑.๕ มม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งและซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาวประมาณ ๔ ซม. มีขนสั้นนุ่มช่อย่อยแบบมีดอกเรียงสลับเดี่ยวดอกเล็ก สีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ก้านดอกยาวประมาณ ๐.๕ มม. กลีบเลียง ๕ กลีบ รูปไข่ ยาวประมาณ ๑.๕ มม. กลีบนอก ๒ กลีบ ปลายแหลม กลีบใน ๓ กลีบ ปลายมน บางกว่ากลีบนอกกลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่ สั้นกว่ากลีบเลี้ยงเล็กน้อย ด้านนอกมีขนสั้นหนานุ่ม เกสรเพศผู้ ๑๕ เกสร เรียง ๓ วง ยาวประมาณ ๐.๕ มม. โคนก้านชูอับเรณูแผ่กว้างอับเรณูกลม มี ๔ พู ปลายมีรยางค์รูปเส้นด้าย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรี เกลี้ยง ยาวประมาณ ๐.๓ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยาวใกล้เคียงกับรังไข่

 ผลแบบผลเปลือกแข็ง รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่กว้างประมาณ ๗ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. เกลี้ยงปลายมีติ่งแหลม กลีบเลี้ยงติดทน โคนหนาหุ้มผล กลีบขยายเป็นปีก ๕ ปีก ปีกยาว ๒ ปีก รูปใบพาย ยาวประมาณ ๖ ซม. ปีกสั้น ๓ ปีก รูปไข่ ยาวประมาณ ๘ มม. เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 เคียนรากมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ตอนล่าง พบขึ้นตามที่ลาดชันในป่าดิบชื้นที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๑๐๐-๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมลายูและบอร์เนียว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เคียนราก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hopea latifolia Symington
ชื่อสกุล
Hopea
คำระบุชนิด
latifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Symington, Colin Fraser
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1905-1943)
ชื่ออื่น ๆ
มาตากูจิง (มลายู-ปัตตานี); เมราวัน (มลายู-นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ราชันย์ ภู่มา