เคล็ดน้ำ

Catunaregam longispina (Link) Tirveng.

ชื่ออื่น ๆ
เงี่ยงดุก, เงี่ยงดุกใหญ่, สีดำหิน, หัวเอียน, หนามแท่ง (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้นตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม กิ่งมีหนามแหลม ออกตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากขีดติดกันเป็นกระจุกตามกิ่งหรือปลายกิ่ง รูปรีหรือรูปช้อนแกมรูปไข่กลับ หูใบระหว่างก้านใบรูปไข่ ร่วงง่าย ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกที่ปลายกิ่งสั้น ดอกสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่แกมรูปทรงรี เกลี้ยง สีเขียว สุกสีเหลือง เมล็ดค่อนข้างแบน รูปเกือบกลม

เคล็ดน้ำเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง ๕ ม. ลำต้นตรง เปลือกเป็นสะเก็ดสีน้ำตาล เรือนยอดเป็นพุ่มกลม กิ่งมีหนามแหลม ยาวประมาณ ๑ ซม. ออกตรงข้ามสลับตั้งฉาก

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากชิดติดกันเป็นกระจุกตามกิ่งหรือปลายกิ่ง รูปรีหรือรูปช้อนแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๒-๔ ซม. ยาว ๑.๘-๘ ซม. ปลายแหลมโคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนแข็งประปรายบริเวณเส้นกลางใบทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๖ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว ๐.๕-๒ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปไข่ ยาว ๓-๔ มม. ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก เป็นช่อสั้น ออกที่ปลายกิ่งสั้น ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ด้านนอก มีขนแข็งประปราย ด้านในเกลี้ยง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอก กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. ปลายแฉกเรียวแหลม กลีบดอกเมื่อเริ่มบานมีสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ยาว ๖-๗ มม. ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนแข็งยาว เรียงเป็นแนวบริเวณกลางหลอดกลีบดอก ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ กว้าง ๗-๘ มม. ยาว ๘-๙ มม. แฉกกลีบดอกมีขนประปราย เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดระหว่างแฉกกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๑ มม. ติดด้านหลังอับเรณู อับเรณูรูปขอบ ขนานกว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๒-๓ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑-๑.๕ ซม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นรูปกระบอง ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายเว้าตื้นเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่ แกมรูปทรงรี กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๓-๔ ซม. สีเขียวเกลี้ยง สุกสีเหลือง ปลายผลมีกลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยมติดทน เมล็ดค่อนข้างแบน รูปเกือบกลม

 เคล็ดน้ำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง พบขนตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้งที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๑,๑๐๐ ม. ออกดอกประมาณเดือนเมษายนเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่ภูฏานและพม่า.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เคล็ดน้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Catunaregam longispina (Link) Tirveng.
ชื่อสกุล
Catunaregam
คำระบุชนิด
longispina
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Link, Johann Heinrich Friedrich
- Tirvengadum, Deva D.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Link, Johann Heinrich Friedrich (1767-1851)
- Tirvengadum, Deva D. (fl. 1986)
ชื่ออื่น ๆ
เงี่ยงดุก, เงี่ยงดุกใหญ่, สีดำหิน, หัวเอียน, หนามแท่ง (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.วรดลต์ แจ่มจำรูญ