เครือไตร

Clematis burmanica Lace

ไม้เลื้อย ลำต้นและกิ่งเป็นสันและร่องลสับกันใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้าม มีใบย่อย ๓ ใบ รูปไข่หรือรูปรีแกมรูปไข่ ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบและปลายยอด ดอกมีขาวนวลถึงเหลืองอมเขียว ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อนรูปทรงรี สุกสีดำหรือนํ้าตาล เมล็ดขนาดเล็กมาก

เครือไตรเป็นไม้เลื้อย ลำต้นและกิ่งเป็นสันและร่องสลับกันตามยาว เมื่อยังอ่อนมีขนสั้นนุ่ม เมื่อแก่เกือบเกลี้ยง

 ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงตรงข้าม ก้านใบยาว ๒.๕-๑๐ ซม. เกลี้ยง มีใบย่อย ๓ ใบ รูปไข่หรือรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง ๑.๕-๙ ซม. ยาว ๓.๕-๑๐ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนตัดหรือรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง ทั้ง ๒ ด้าน เส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น ก้านใบย่อยยาว ๐.๕-๔ ซม.

 ช่อดอกคล้ายช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบและปลายยอด ก้านช่อดอกยาว ๓-๘ ซม. มีขนสั้นประปราย ดอกในช่อจำนวนมาก เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๒-๒.๕ ซม. ก้านดอกยาว ๑-๓.๕ ซม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ใบประดับรูปแถบ ยาว ๐.๕-๒ ซม. มีก้านใบประดับย่อยรูปแถบขนาดเล็ก ดอกสีขาวนวลถึงสีเหลืองอมเขียว กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ รูปขอบขนานปลายมน กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๑๐-๑๓ มม. ด้านบนเกลี้ยงด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม บางครั้งบริเวณขอบมีขนกำมะหยี่ ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้จำนวนมาก ยาว ๕.๕-๘.๕ มม. อับเรณูรูปขอบขนาน ยาว ๑.๒-๑.๘ มม. ส่วนปลายมนก้านชูอับเรณูรูปเส้นด้าย ยาว ๖-๘ มม. เกลี้ยง รังไข่ อยู่เหนือวงกลีบ มีจำนวนมาก แยกจากกันเป็นอิสระ รูปไข่แกมรูปรี มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด มีขนสั้นหนาแน่นก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๕ มม. มีขนอุยหนาแน่น

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงรี แบน กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นสุกสีดำหรือนํ้าตาล ก้านยอดเกสรเพศเมียติดทนยาวประมาณ ๓ ซม. มีขนยาวนุ่มสีเหลือง เมล็ดขนาดเล็กมาก

 เครือไตรมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามภูเขาหินปูน ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๙๐๐-๑,๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่พม่าตอนเหนือจีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เครือไตร
ชื่อวิทยาศาสตร์
Clematis burmanica Lace
ชื่อสกุล
Clematis
คำระบุชนิด
burmanica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Lace, John Henry
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1857-1918)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวนันทวรรณ สุปันตี และ ดร.สมราน สุดดี