เครือมะถั่วเน่า

Combretum winitii Craib

ไม้พุ่มรอเลื้อย ผลัดใบ ทุกส่วนมีขนสั้นนุ่มสีเหลืองอมน้ำตาลและมีเกล็ดหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากหรือเยื้องกันเล็กน้อย หรืออาจเรียงเป็นวง วงละ ๓ ใบ รูปรีค่อนข้างป้อมถึงรูปรีแกมรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อเชิงลด ดอกสีเขียวอ่อน ผลแบบผลผนังชั้นในแข็งรูปทรงรี มีครีบตามยาวคล้ายปีก ๔ ครีบ

เครือมะถั่วเน่าเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ผลัดใบ ทุกส่วนมีขนสั้นนุ่มสีเหลืองอมนํ้าตาลและมีเกล็ดหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากหรือเยื้องกันเล็กน้อย หรืออาจเรียงเป็นวง วงละ ๓ ใบ รูปรีค่อนข้างป้อมถึงรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๗-๑๘ ซม. ยาว ๑๕-๓๔ ซม. ปลายมนส่วนปลายสุดหยักคอดเป็นติ่งแหลมสั้น ๆ โคนสอบคล้ายรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงค่อนข้างหนา สีเขียวอ่อน ด้านบนมีขนสั้นนุ่มหนาแน่นและมีเกล็ดบางสีนํ้าตาลประปราย ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มและมีเกล็ดบางสีนํ้าตาลหนาแน่นเส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๔ เส้นปลายเส้นโค้งไปสู่ขอบใบเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑.๒-๒ ซม. เมื่ออ่อนมีขนหนาแน่น

 ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อเชิงลดยาว ๖-๘ ซม. ทุกส่วนมีขนสั้นนุ่มและมีเกล็ดสีนํ้าตาลแดงหนาแน่น ในแต่ละช่อมีทั้งดอกแยกเพศและดอกสมบูรณ์เพศปะปนกัน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น ๔ แฉก กลีบดอก ๔ กลีบ สีเขียวอ่อนสลับกับแฉกกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้ ๘ เกสร ยาวประมาณ ๑ มม. เรียงเป็น ๒ วงบนจานฐานดอก รังไข่อยูใตัวงกลีบ รูปรีเป็นสี่เหลี่ยม ยาวประมาณ ๑.๕ มม. มี ๑ ช่อง ออวุล ๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นอิสระ ยอดเกสรเพศเมียเล็ก

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรี มีครีบตามยาวคล้ายปีก ๔ ครีบ กว้างประมาณ ๒ ซม. ยาวประมาณ ๓ ซม. โคนและปลายผลเรียวแหลม มีขนสั้นนุ่มและมีเกล็ด และระหว่างร่องสันมีขนยาวคล้ายแส้กว้างประมาณ ๗ มม. สีนํ้าตาลอ่อนก้านผลเป็นเหลี่ยม ยาวประมาณ ๔ มม.

 เครือมะถั่วเน่าเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ พบขึ้นตามริมลำธารในป่าผลัดใบ ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๑๐๐-๓๐๐ ม. เป็นผลเดือนพฤศจิกายน

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เครือมะถั่วเน่า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Combretum winitii Craib
ชื่อสกุล
Combretum
คำระบุชนิด
winitii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายปิยชาติ ไตรสารศรี