เครือนวลน้อย

Aganosma breviloba Kerr

ไม้เถา มียางสีขาว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามรูปรี มีต่อมบนสันระหว่างคู่ของก้านใบ ช่อดอกแบบ ช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ยอดหรือบางครั้งออกตามซอกใบ ดอกสีขาว รูปทรงกระบอกแคบ

เครือนวลน้อยเป็นไม้เถา มียางสีขาว กิ่งมีช่องอากาศ กิ่งแขนงมีขนแข็งเอน

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี กว้าง ๒.๒-๖.๔ ซม. ยาว ๕.๕-๑๓.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบแผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น เส้นขอบในของใบเห็นไม่ชัด มีขนแข็งตามเส้นกลางใบด้านล่างและที่ขอบตรงโคนใบ ก้านใบยาว ๐.๗-๑.๒ ซม. มีต่อมบนสันระหว่างคู่ของก้านใบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ยอดหรือบางครั้งออกตามซอกใบ ยาว ๓-๘ ซม. มีขนสั้นหนานุ่มประปราย ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ก้านดอกยาว ๐.๓-๑ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปแถบแกมรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๓.๗ มม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. ปลายเรียวแหลม มีขนสั้นหนานุ่ม โคนด้านในใกล้ขอบกลีบมีต่อม ๒-๓ ต่อม กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกระบอกแคบ ยาว ๐.๗-๑ ซม. ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปรี ยาว ๕-๘.๒ มม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม เรียงซ้อนเหลื่อมไปทางขวาในดอกตูม ด้านนอกมีขนสั้นหนานุ่มด้านในบริเวณปากหลอด และในหลอดมีขน เกสรเพศผู้ติดอยู่ในหลอดกลีบดอกสูงจากฐาน ๒-๓.๘ มม. ถ้านชูอับเรณูสั้นหรือเกือบไม่มี อับเรณูรูปหัวลูกศร กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๔.๔-๖ มม. เกาะอยู่รอบยอดเกสรเพศเมีย จานฐานดอกรูปถ้วย สูงกว่ารังไข่ ยาว ๑.๑-๒.๒ มม. ปลายด้านบนแคบลงและหยักเป็นซี่ฟัน ๕ หยัก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ คู่ ยาว ๐.๙-๑.๔ มม. มีขนละเอียดประปราย แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง ภายในมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเชื่อมติดกันความยาวเมื่อรวมกับยอดเกสรเพศเมีย ๔.๗-๖.๒ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปกรวย

 ผลยังไม่พบ

 เครือนวลน้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคเหนือ พบขึ้นตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๗๔๐ ม. ในต่างประเทศ พบที่พม่า และจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เครือนวลน้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Aganosma breviloba Kerr
ชื่อสกุล
Aganosma
คำระบุชนิด
breviloba
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kerr, Arthur Francis George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1877-1942)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง และ ผศ. ดร.มานิต คิดอยู่