เครืองูเห่า

Toddalia asiatica (L.) Lam.

ชื่ออื่น ๆ
ผักแปมป่า (เหนือ); เล็บรอก (ประจวบคีรีขันธ์)
ไม้เถา ต้นและกิ่งมีหนามแหลม ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ มีใบย่อย ๓ ใบ รูปไข่กลับรูปรี หรือรูปไข่ ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกเล็กสีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองอมเขียว ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปค่อนข้างกลม เมล็ดรูปไต ขนาดเล็ก

 เครืองูเห่าเป็นไม้เถา กิ่งห้อยลง ต้นและกิ่งมีหนามแหลม

 ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ก้านใบยาว ๒-๓ ซม. มีหนามแหลม มีใบย่อย ๓ ใบ รูปไข่กลับ รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๓-๘ ซม. ใบย่อยใบกลางใหญ่กว่าใบย่อยคู่ข้าง ปลายแหลม โคนสอบ ขอบหยัก แผ่นใบหนาและมีต่อมนํ้ามัน เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๑ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบย่อยสั้นมาก

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบและปลายกิ่งมีขนสั้น ก้านดอกยาว ๓-๖ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันคล้ายถ้วยเล็ก ๆ ปลายหยักแหลม ๔-๕ หยัก กลีบดอก ๔-๕ กลีบ ดอกเล็ก สีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองอมเขียวดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๔-๕ เกสร ยาวประมาณ ๑ มม. ก้านชูอับเรณูเรียวและสั้น มีรังไข่ที่ไม่สมบูรณ์ ดอกเพศเมียมีจานฐานดอก เกสรเพศผู้เป็นหมัน ลดรูปเป็นเส้นสั้น ๆ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลม มี ๔-๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑ ซม. ผลแก่สีส้ม เปลือกมีต่อมนํ้ามัน เมล็ดรูปไต ขนาดเล็ก มี ๓-๗ เมล็ด

 เครืองูเห่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคพบขึ้นในป่าดิบ ป่าละเมาะ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๑,๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ศรีลังกา พม่า จีน ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ ยอด ใบอ่อน และช่อดอกกินได้ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ และมีรสขม พม่าใช้รากเป็นยาบำรุงกำลัง อินโดนีเซียใช้เปลือกเป็นยาบำรุงธาตุและแก้ไข้ ฟิลิปปินส์ใช้รากเป็นยาแก้ท้องเสีย รากมีแอลคาลอยด์ หลายชนิด เช่น toddaline, toddalinine และมี coumarins หลายชนิด เช่น toddanol.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เครืองูเห่า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Toddalia asiatica (L.) Lam.
ชื่อสกุล
Toddalia
คำระบุชนิด
asiatica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Lamarck, Jean-Baptiste Pierre Antoine de Monet de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Lamarck, Jean-Baptiste Pierre Antoine de Monet de (1744-1829)
ชื่ออื่น ๆ
ผักแปมป่า (เหนือ); เล็บรอก (ประจวบคีรีขันธ์)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์