เข็มเหลือง

Vanda testacea (Lindl.) Rchb. f.

กล้วยไม้อิงอาศัย เจริญเติบโตทางยอด ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนาน เป็นร่องตามยาวตลอดใบ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ดอกสีเหลือง แผ่นปากสีม่วง ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยประสาน มีเมล็ดจำนวนมาก

เข็มเหลืองเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญเติบโตทางยอด ลำต้นกลม ยาว เมื่อเจริญเต็มที่สูงประมาณ ๒๕ ซม. ขึ้นไป

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว มีข้างละ ๕-๗ ใบ ใบหนาและอวบน้ำ รูปขอบขนานกว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๑๐-๒๐ ซม. เป็นร่องยาวตลอดใบ ใบเหยียดตรง ปลายแยกเป็นหยักไม่เท่ากัน

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ รูปทรงกระบอก ตั้งตรง ยาว ๑๕-๑๘ ซม. ดอกสีเหลือง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม. ก้านดอกและรังไข่ยาว ๒.๕-๓.๕ ซม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบด้านบนกว้าง ๓-๔ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. กลีบด้านข้างกว้าง ๔-๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบคู่ข้างกว้าง ๓-๔ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. กลีบบิดเล็กน้อย ปลายมน กลีบปากมี ๓ แฉก หูปากตั้งขึ้น ปลายมนโค้งเข้าหากัน สีส้มมีจุดประสีม่วง แผ่นปากด้านหน้าสีม่วง ขอบเป็นจักละเอียด กลางแผ่นปากมีสันนูน ๓ สันตามยาว เดือยดอกยาวประมาณ ๕ มม. โค้งเล็กน้อย ปลายเดือยสีเขียวอ่อน เส้าเกสรสั้น กลุ่มอับเรณูค่อนข้างกลม มี ๒ กลุ่ม ติดบนเส้าเกสร ฝาปิดกลุ่มเรณูสีเหลือง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง และมีออวุลมาก ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยประสาน รูปกระบอง ยาว ๒.๕-๓ ซม. มีเมล็ดจำนวนมาก

 เข็มเหลืองมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ออกดอกระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่จีน (มณฑลยูนนานตอนใต้) อินเดีย ศรีลังกา และพม่า.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เข็มเหลือง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Vanda testacea (Lindl.) Rchb. f.
ชื่อสกุล
Vanda
คำระบุชนิด
testacea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Lindley, John
- Reichenbach, Heinrich Gustav
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Lindley, John (1799-1865)
- Reichenbach, Heinrich Gustav (1824-1889)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์