เข็มเขาดำ

Tarenna adangensis (Ridl.) Ridl.

ชื่ออื่น ๆ
ยายกรังใบใหญ่, ลูกค่าง (ใต้)
ไม้พุ่ม ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ หูใบระหว่างก้านใบปลายมน ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ออกตามปลายกิ่ง ดอกเล็กสีขาวอมเขียว มีกลิ่นหอม ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม สุกสีดำ

เข็มเขาดำเป็นไม้พุ่ม สูง ๓-๔ ม. กิ่งสีขาวหรือน้ำตาลอ่อน

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ เมื่อใบแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีดำ แผ่นใบบาง เส้นแขนงใบนูนเด่นชัดทั้ง ๒ ด้าน มีข้างละ ๕ เส้น ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. หูใบระหว่างก้านใบ ๑ คู่ รูปไข่ปลายมน แนบกับกิ่ง

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ออกตามปลายกิ่ง กว้างและยาวประมาณ ๒.๕ ซม. มีดอกน้อย ก้านช่อดอกสั้นมาก ดอกเล็ก สีขาวอมเขียว กลิ่นหอม กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๕ แฉก กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายหลอดแยกเป็นแฉกปลายมน ๕ แฉก ยาวประมาณ ๑ ซม. เกสรเพศผู้ ๕ อัน ยาวพ้นหลอดดอกประมาณ ๔ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลหลายเม็ด ยอดเกสรเพศเมียเป็นแท่งยาวประมาณ ๖ มม.

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. สุกสีดำ เมล็ดจำนวนมาก

 เข็มเขาดำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ขึ้นตามชายทะเล ป่าดิบและบนเขาหินปูน ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เข็มเขาดำ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tarenna adangensis (Ridl.) Ridl.
ชื่อสกุล
Tarenna
คำระบุชนิด
adangensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Ridley, Henry Nicholas
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Ridley, Henry Nicholas (1855-1956)
ชื่ออื่น ๆ
ยายกรังใบใหญ่, ลูกค่าง (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์ และ นางทยา เจนจิตติกุล