เข็มสาวระนอง

Mycetia paniculiformis Fukuoka

ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก กิ่งอ่อนมีขนสั้น เมื่อแห้งมีสีดำเปราะและหักง่าย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกกลับ ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกที่ปลายกิ่ง ดอกสีเหลือง ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม สีเขียวเข้ม เมล็ดเล็ก

เข็มสาวระนองเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๑-๒ ม. กิ่งอ่อนมีขนสั้น เมื่อแห้งมีสีดำ เปราะและหักง่าย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกกลับกว้าง ๔.๗-๖ ซม. ยาว ๑๔-๒๑ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้น เส้นแขนงใบข้างละ ๑๓-๑๗ เส้น ก้านใบยาว ๑-๓ ซม. หูใบระหว่างก้านใบยาวประมาณ ๔ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกที่ปลายกิ่งช่อยาว ๔-๑๒ ซม. มีช่อย่อย ๓-๔ ช่อ ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๔.๕ ซม. มีขนประปราย ก้านดอกยาว ๐.๖-๑.๒ ซม. ใบประดับรูปสามเหลี่ยมหรือรูปไข่ ดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม กว้างและยาวประมาณ ๑.๕ มม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๕-๘ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่หรือรูปขอบขนานกว้างประมาณ ๑.๓ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนยาวประปราย เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ภายในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาว ๑.๒ มม. อับเรณูยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๓.๕ มม. มีขนยาว ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ยาวประมาณ ๓.๕ มม.

 ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ มม. สีเขียวเข้ม มีกลีบเลี้ยงติดทนโค้งเข้าหากันที่ปลายผล เมล็ดเล็ก

 เข็มสาวระนองเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบชื้นที่สูงจากระดับทะเล ๖๐๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงมกราคม

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เข็มสาวระนอง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Mycetia paniculiformis Fukuoka
ชื่อสกุล
Mycetia
คำระบุชนิด
paniculiformis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Fukuoka, Nobuyuki
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1904-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ