เข็มสาวชวา

Mycetia cauliflora Reinw.

ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก เปลือกเรียบเป็นมันสีฟางแห้ง กิ่งเปราะและหักง่าย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอก รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามลำต้นและกิ่ง ดอกสีเหลืองอ่อน ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงค่อนข้างกลม สีขาว เมล็ดเล็กมีจำนวนมาก รูปลิ่ม สีดำ

เข็มสาวชวาเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๑-๓ ม.เปลือกเรียบเป็นมัน สีฟางแห้ง กิ่งเปราะและหักง่าย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๕-๘ ซม. ยาว ๑๗-๒๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลมโคนรูปลิ่มหรือสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษสีเขียวเข้ม เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๔ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. เกลี้ยง

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามลำต้นและกิ่ง ช่อยาว ๓-๔ ซม. ก้านช่อยาว ๐.๕-๑ ซม. ก้านดอกยาว ๐.๕-๒ ซม. ดอกสีเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาว ๒-๓ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉกเกลี้ยง ปลายแฉกมีรยางค์คล้ายเส้นด้าย กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑-๑.๒ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนประปรายเกสรเพศผู้ ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้นมาก ส่วนมากติดใกล้ปากหลอด พบน้อยมากที่ติดบริเวณโคนดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียโผล่ไม่พ้นหลอดกลีบดอก

 ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงค่อนข้างกลม สีขาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ มม. ปลายผลบุ๋มมีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก รูปลิ่ม สีดำ

 เข็มสาวชวามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบชื้นริมลำธาร ที่สูงจากระดับทะเล ๖๐๐-๑,๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปีในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เข็มสาวชวา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Mycetia cauliflora Reinw.
ชื่อสกุล
Mycetia
คำระบุชนิด
cauliflora
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Reinwardt, Caspar Georg Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1773-1854)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ