เข็มสาวขนดก

Mycetia squamulosopilosa Pit.

ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมเปลือกเรียบเป็นมัน สีน้ำตาลอ่อนหรือสีฟางแห้ง เปราะและหักง่าย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจุกออกที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาวนวลหรือสีเหลือง ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปค่อนข้างกลม สีขาว เมล็ดจำนวนมาก รูปลิ่ม สีดำ

เข็มสาวขนดกเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๐.๕-๑ ซม. กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม มีขน เปลือกต้นและผิวเรียบเป็นมันสีน้ำตาลอ่อนหรือสีฟางแห้ง เปราะและหักง่าย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๖-๑๐ ซม. ยาว ๒๐-๒๕ ซม. ปลายแหลม โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียวขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนคล้ายหนามแหลมประปราย ด้านล่างมีขนหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๒๐-๒๕ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว ๑.๕-๓ ซม. มีขน หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมยาวประมาณ ๘ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกที่ปลายกิ่ง มีหลายช่อ ช่อยาว ๗-๑๐ ซม. ก้านและแกนช่อมีขน ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ยาว ๔-๕ มม. ก้านดอกยาวประมาณ ๒ มม. ดอกสีขาวนวลหรือสีเหลือง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก สีเขียวอ่อน มีขน ตามขอบกลีบเลี้ยงมีขนต่อม กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมปลายมน ยาวประมาณ ๑.๗ มม. แฉกกลีบดอกเรียงจดกันในดอกตูมเกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ภายในหลอดกลีบดอกใกล้ฐานโผล่ไม่พ้นหลอดกลีบดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มีขนหนาแน่นมี ๒-๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก โผล่ไม่พ้นหลอดกลีบดอก

 ผลคล้ายผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปค่อนข้างกลมสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ มม. มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดจำนวนมาก รูปลิ่ม สีดำ

 เข็มสาวขนดกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเล ๒๐๐-๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่กัมพูชา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เข็มสาวขนดก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Mycetia squamulosopilosa Pit.
ชื่อสกุล
Mycetia
คำระบุชนิด
squamulosopilosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Pitard, Charles-Joseph Marie
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1873-1927)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ