เข็มดง

Greenea corymbosa (Jack) Voigt var. corymbosa

ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ยอดและกิ่งอ่อนมีขนหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเป็นวงรอบ ๓ ใบ รูปใบหอกกลับหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับใบแก่มักเปลี่ยนเป็นสีส้มแดง ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงช่อย่อยแบบช่องวงแถวคู่ ปลายช่อโค้งงอหรือม้วน ออกที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ผลแบบผลแห้งแตกรูปทรงกลม เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก

เข็มดงเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง ๕ ม.แตกกิ่งไม่มาก ยอดและกิ่งอ่อนมีขนหนาแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเป็นวงรอบ ๓ ใบ รูปใบหอกกลับหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๖-๑๒ ซม. ยาว ๒๐-๔๐ ซม. ปลายมนหรือเรียวแหลม โคนสอบเรียวขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนประปรายตามเส้นใบ ด้านล่างมีขนหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๒๐-๓๐ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่าง ใบแก่มักเปลี่ยนเป็นสีส้มแดง ก้านใบยาว ๒-๔ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๑-๑.๓ ซม. ยาว ๑.๒-๑.๖ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่องวงแถวคู่ ปลายช่อโค้งงอหรือม้วน ออกที่ปลายกิ่ง ยาว ๘-๑๖ ซม. มีขนสั้นสีน้ำตาลทอง ก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๑๐ ซม. ก้านดอกสั้นมาก ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น ๔-๕ แฉก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลทอง ด้านในเกลี้ยงปลายแยกเป็น ๔-๕ แฉก แฉกกลีบดอกเรียงเวียนในดอกตูมแฉกตั้งตรงหรือโค้งเข้าเมื่อบาน เกสรเพศผู้ ๔-๕ เกสร ติดและอยู่ภายในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมากก้านยอดเกสรเพศเมียโผล่พ้นหลอดกลีบดอก ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก โค้งแยกจากกัน

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มม. มีกลีบเลี้ยงติดทนที่ปลายผล เมล็ดเล็กมีจำนวนมาก

 เข็มดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามป่ารุ่น ริมลำธาร ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๖๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เข็มดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Greenea corymbosa (Jack) Voigt var. corymbosa
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ