เข็มชมพู

Ascocentrum semiteretifolium Seidenf.

ชื่ออื่น ๆ
เอื้องจำบัง (ทั่วไป)
กล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางยอด ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปทรงกระบอก แผ่นใบหนามากช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ดอกสีชมพูหรือสีชมพูอมม่วง ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยประสานรูปทรงกระบอกแกมรูปทรงรี เมล็ดมีจำนวนมากขนาดเล็กคล้ายผง



 เข็มชมพูเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางยอดเส้นผ่านศูนย์กลางต้น ๓-๔ มม. สูง ๒-๕ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมรูปทรงกระบอก กว้างและหนา ๓-๕ มม. ยาวได้ถึง ๑๕ ซม. สีเขียวหม่นหรือเขียวแกมม่วง แผ่นใบหนามาก ด้านบนเป็นร่องตามยาวคล้ายรางน้ำ

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ทั้งช่อยาว ๔-๘ ซม. มีดอก ๖-๒๐ ดอก ก้านดอกรวมรังไข่ยาว ๑-๑.๒ ซม. สีเดียวกับดอก ใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยมยาวประมาณ ๑ มม. ดอกสีชมพูหรือสีชมพูอมม่วง เส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ ๑ ซม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ รูปไข่กว้างประมาณ ๔ มม. ยาว ๖-๗ มม. ปลายมนหรือแหลมกลีบดอก ๓ กลีบ กลีบด้านข้างทั้ง ๒ กลีบ คล้ายกลีบเลี้ยง กลีบที่เป็นกลีบปากด้านล่างช่วงปลายรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้างประมาณ ๒.๕ ซม. ยาวประมาณ ๔ มม. ช่วงโคนมีหูกลีบปากสีเหลือง โค้งขึ้นในแนวตั้งขนาบข้างเส้าเกสร รูปค่อนข้างเป็นสามเหลี่ยม ปลายมน ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ด้านล่างของโคนกลีบปากเป็นถุง ปลายโค้งไปทางปลายกลีบปาก ถุงกว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาว ๖-๖.๕ มม. เส้าเกสรยาวประมาณ ๒ มม. ฝาครอบกลุ่มเรณูสีเข้มกว่าสีกลีบ กลุ่มเรณูรูปค่อนข้างกลมมี ๒ กลุ่ม ติดที่ปลายก้านกลุ่มเรณูซึ่งเป็นแผ่นบางใสฐานกว้าง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นแอ่งอยู่ทางด้านหน้าใกล้ปลายเส้าเกสร

 ผลแบบผลแห้งแตกตามรอยประสาน รูปทรงกระบอกแกมรูปทรงรี กว้าง ๖-๘ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. เมล็ดจำนวนมาก ขนาดเล็กคล้ายผง

 เข็มชมพูเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ พบน้อยมากตามป่าดิบเขาที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ขึ้นไป ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เข็มชมพู
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ascocentrum semiteretifolium Seidenf.
ชื่อสกุล
Ascocentrum
คำระบุชนิด
semiteretifolium
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Seidenfaden, Gunnar
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1908-2001)
ชื่ออื่น ๆ
เอื้องจำบัง (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง