เขืองสร้อย

Smilax davidiana A. DC.

ชื่ออื่น ๆ
เขืองโทน (เลย)
ไม้เถา ลำต้นกลมและมีสัน เกลี้ยงหรือมีหนาม มีมือพัน ใบเรียงเวียน รูปรี รูปรีกว้าง หรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกตามง่ามใบล่างสุดของกิ่งอ่อน ดอกสีค่อนข้างเขียว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม สุกสีแดง

เขืองสร้อยเป็นไม้เถา ลำต้นกลม สีน้ำตาลหรือน้ำตาลเข้ม เป็นสัน ๘-๑๒ สัน ลำต้นตั้งตรงขึ้นไป ตอนปลายแตกกิ่งหนาทึบ ช่วงระหว่างข้อยาว ๒-๑๐ ซม. เกลี้ยงหรือมีหนามโค้งประปรายหนามยาว ๒-๓ มม. มือพันยาวประมาณ ๓ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปรีกว้าง หรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๒.๕-๘ ซม. ปลายมน มีติ่งแข็งสั้น ๆ โคนมนแล้วสอบแหลมสั้น ๆ ขอบเรียบ แผ่นใบไม่มีนวล เส้นโคนใบ ๕-๗ เส้น ๓ เส้นตรงกลางนูนเห็นเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นที่อยู่ริมนอกเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๓-๖ มม. รูปคล้ายสามเหลี่ยม แผ่ออกเป็นกาบเกือบตลอดความยาว กว้าง ๒-๓ มม.

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มทั้งช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมีย ออกตามง่ามใบล่างสุดของกิ่งอ่อน ก้านช่อดอกยาว ๑-๓ ซม. มีดอกย่อย ๑๐-๒๐ ดอก ก้านดอกยาวประมาณ ๑ ซม. และเมื่อเป็นผลอาจยาวได้ถึง ๒.๕ ซม. ดอกสีค่อนข้างเขียว กลีบรวม ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ วง ดอกเพศผู้มีกลีบรวมยาว ๓-๔ มม. แผ่กางออก กลีบรวมวงนอกรูปขอบขนาน ปลายมน กว้าง ๑-๒ มม. กลีบรวมวงในรูปแถบแกมรูปใบหอกกลับ ปลายมน แคบกว่ากลีบรวมวงนอก เกสรเพศผู้ ๖ อัน ก้านชูอับเรณูเรียวยาว ๓-๔ มม. ดอกเพศเมียมีกลีบรวมรูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาว ๒-๓ มม. ปลายแหลม กลีบรวมวงนอกกว้างประมาณ ๑ มม. กลีบรวมวงในแคบกว่า มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๔-๖ อัน ยาวประมาณ ๑ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรี มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ด

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๗ มม. สุกสีแดง มี ๑-๒ เมล็ด

 เขืองสร้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบในป่าละเมาะ ป่าก่อ ป่าสน และป่าดิบ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๑,๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบตั้งแต่ตอนกลางของจีนจนถึงบริเวณอ่าวตังเกี๋ย และทางเหนือของลาว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เขืองสร้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Smilax davidiana A. DC.
ชื่อสกุล
Smilax
คำระบุชนิด
davidiana
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- de Candolle, Alphonse Louis Pierre Pyramus
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- de Candolle, Alphonse Louis Pierre Pyramus (1806-1893)
ชื่ออื่น ๆ
เขืองโทน (เลย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา