เขี้ยวฟาน

Chionanthus velutinus (Kerr) P. S. Green

ชื่ออื่น ๆ
โกสุม (ทั่วไป); แค้วฟาน (นครราชสีมา)
ไม้พุ่มถึงไม้ต้น ยอดอ่อนมีขนกำมะหยี่ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปใบหอกกลับ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกตามซอกใบ ดอกสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง กลิ่นหอมผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่ มี ๑ เมล็ด

เขี้ยวฟานเป็นไม้พุ่มถึงไม้ต้น สูง ๑-๒ ม. ยอดอ่อนมีขนกำมะหยี่

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอกกลับ กว้าง ๕-๗ ซม. ยาว ๑๒-๒๑ ซม. ปลายมนถึงแหลม หรือเกือบเรียวแหลมโคนสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนังด้านบนเกลี้ยง ยกเว้นตามเส้นกลางใบมีขน ด้านล่างมีขนกำมะหยี่ เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๐ เส้น ด้านบนเป็นร่องด้านล่างนูน เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๑-๒.๕ ซม. มีขนกำมะหยี่

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ยาว ๔-๘ ซม. มีดอกจำนวนมาก แกนกลางช่อมีขนกำมะหยี่ก้านดอกสั้น ดอกสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง กลิ่นหอม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปสามเหลี่ยม ยาว ๑-๑.๓ มม. มีขนยาวหนาแน่น กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อยปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยมแคบกว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาว ๔-๕.๕ มม. ขอบกลีบม้วนขึ้น เกสรเพศผู้ ๒ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้นมาก ติดที่โคนหลอดกลีบดอก อับเรณูรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว ๑.๓-๑.๕ มม. แกนอับเรณูยื่นยาวเล็กน้อย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปคล้ายขวด ยาวประมาณ ๑ มม. มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๐.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉกตื้น ๒ แฉก

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๑.๓ ซม. ยาวประมาณ ๒.๔ ซม. สีเขียว สุกสีดำ มี ๑ เมล็ด

 เขี้ยวฟานเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๒๐๐-๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนมีนาคมถึงเมษายน เป็นผลเดือนสิงหาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เขี้ยวฟาน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Chionanthus velutinus (Kerr) P. S. Green
ชื่อสกุล
Chionanthus
คำระบุชนิด
velutinus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kerr, Arthur Francis George
- Green, Peter Shaw
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Kerr, Arthur Francis George (1877-1942)
- Green, Peter Shaw (1920-2009)
ชื่ออื่น ๆ
โกสุม (ทั่วไป); แค้วฟาน (นครราชสีมา)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์