เขี้ยวงูเล็ก

Jasminum nervosum Lour.

ชื่ออื่น ๆ
เขี้ยวงู, ลิย่าน (ใต้); มะลิดิน (ทั่วไป); มะลิไส้ไก่, แส้วดง (เหนือ)
ไม้เถาเนื้อแข็ง ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปใบหอก มีเส้นโคนใบข้างละ ๑ เส้น ช่อดอกแบบช่อกระจุก ดอกสีขาว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด มี ๑ เมล็ด

เขี้ยวงูเล็กเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ยอดอ่อนเกลี้ยงหรืออาจมีขนละเอียด

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๓.๕-๗ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนมน ขอบเรียบ มีเส้นโคนใบข้างละ ๑ เส้น เส้นแขนงใบแบบขนนก มีข้างละประมาณ ๓ เส้น ปลายเชื่อมกับเส้นโคนใบที่บริเวณใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นชัดทางด้านล่าง ส่วนด้านบนเป็นร่องตื้น ไม่มีตุ่มใบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบ ก้านช่อสั้นมาก ดอกสีขาว มีไม่เกิน ๓ ดอก ก้านดอกยาว ๒-๕ มม. กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูประฆัง ยาว ๒-๓ มม. ปลายแยกเป็นแฉกรูปลิ่มแคบ ๕-๖ แฉก ยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดยาว ๑.๒-๒ ซม. ปลายแยกเป็นแฉก ๗-๘ แฉก กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๑.๒-๒ ซม. เกสรเพศผู้มี ๒ อัน ติดอยู่ในหลอดดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปคล้ายกลอง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียเป็นแถบยาว ๒ แถบ

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลมรี ออกเป็นคู่หรือเดี่ยว กว้าง ๐.๘-๙.๐ ซม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. แก่จัดสีดำ มี ๑ เมล็ด

 เขี้ยวงูเล็กมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พบตามป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ และอาจพบตามเขาหินปูน ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๑,๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้ ไต้หวัน อินเดีย ภูฏาน พม่า และภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เขี้ยวงูเล็ก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Jasminum nervosum Lour.
ชื่อสกุล
Jasminum
คำระบุชนิด
nervosum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Loureiro, João de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1717-1791)
ชื่ออื่น ๆ
เขี้ยวงู, ลิย่าน (ใต้); มะลิดิน (ทั่วไป); มะลิไส้ไก่, แส้วดง (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์