เขียวพระอินทร์

Liparis tschangii Schltr.

ชื่ออื่น ๆ
เอื้องมรกต (ทั่วไป)
กล้วยไม้ดิน ต้นสั้น และมีต้นใต้ดิน ใบเดี่ยวเรียงสลับอยู่ที่ระดับดิน รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ยอด ดอกสีเขียวสดผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแกมรูปทรงรี เมล็ดจำนวนมาก ขนาดเล็กคล้ายผง

เขียวพระอินทร์เป็นกล้วยไม้ขึ้นตามพื้นดินต้นเหนือดินสั้น มีช่วงการเจริญเติบโตเฉพาะในฤดูฝน ส่วนที่อยู่ใต้ดินรูปร่างไม่แน่นอน อาจกลม รี หรือรูปอื่น ๆ สีขาวค่อนข้างใส

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ มี ๒ ใบ แผ่กางออกในแนวระนาบอยู่ที่ระดับดิน รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๔-๗ ซม. ยาว ๖-๑๒ ซม. ปลายแหลม โคนมน ส่วนล่างสอบโอบรอบต้น แผ่นใบค่อนข้างบาง มีแนวจีบตามยาว ๕-๗ แนว ผิวใบมักมันวาว

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ยอด เป็นช่อตั้งสูง ๑๐-๒๐ ซม. ช่อดอกโปร่ง ทยอยบานเป็นเวลานานใบประดับย่อยรูปแถบ ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายแหลมก้านดอกรวมรังไข่ยาว ๑-๑.๕ ซม. ดอกสีเขียวสด ขนาดประมาณ ๑ ซม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบบนรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๗-๘ มม. มักบิดและพับลงขนานกับก้านดอก กลีบด้านข้างรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก เบี้ยวเล็กน้อย กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๖-๗ มม. บิดตัวลงไปอยู่ใต้กลีบปาก กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบด้านข้างรูปแถบ ยาว ๗-๘ มม. บิดตัวลงไปอยู่ใต้กลีบเลี้ยงด้านข้าง กลีบที่เป็นกลีบปากเห็นเด่นชัดกว่ากลีบอื่น ๆ รูปค่อนข้างกลม ขนาดประมาณ ๑ ซม. ขอบเป็นคลื่นและช่วงปลายขอบอาจหยัก โค้งมน แนวกลางกลีบปากมีแถบนูนสีเขียว ผิวมัน ยาวประมาณ ๓ ใน ๔ ของกลีบ ปลายแถบมน เส้าเกสรยาว ๓-๔ มม. ฝาปิดกลุ่มเรณูรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม กลุ่มเรณูมี ๒ คู่ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นแอ่ง รูปรีอยู่ทางด้านหน้าใกล้ปลายเส้าเกสร

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแกมรูปทรงรียาวประมาณ ๒ ซม. เมล็ดจำนวนมาก ขนาดเล็กคล้ายผง

 เขียวพระอินทร์มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นตามที่ร่มชื้นใกล้แหล่งน้ำตามป่าเบญจพรรณ และป่าผลัดใบ ที่สูงจากระดับทะเล ๒๐๐-๑,๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้และลาว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เขียวพระอินทร์
ชื่อวิทยาศาสตร์
Liparis tschangii Schltr.
ชื่อสกุล
Liparis
คำระบุชนิด
tschangii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Schlechter, Friedrich Richard Rudolf
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1872-1925)
ชื่ออื่น ๆ
เอื้องมรกต (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง