เขียงผ่าข้าง

Blumea lanceolaria (Roxb.) Druce

ไม้พุ่มเตี้ย เปลือกสีเขียวอมน้ำตาล มีรอยแผลใบใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปใบหอก โคนก้านใบแผ่เป็นแฉกรูปแถบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นเชิงประกอบคล้ายช่อกระจะ ออกที่ยอดหรือปลายกิ่ง ดอกสีเหลืองสีเหลืองแกมม่วงอ่อน หรือสีขาวแกมม่วงอ่อน ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงรี มีขนต่อมประปราย มีกลีบเลี้ยงติดทนรอบปลายผลเป็นเส้นละเอียดสีขาว เมล็ดรูปทรงรี

เขียงผ่าข้างเป็นไม้พุ่มเตี้ย สูง ๑-๒ ม. เปลือกสีเขียวอมน้ำตาล มีรอยแผลใบและช่องอากาศกระจายทั่วไป เนื้อภายในอ่อน สีขาว และมักกลวง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง ๕-๗ ซม. ยาว ๒๐-๒๕ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนสอบแคบ ขอบหยักซี่ฟันหรือจักฟันเลื่อย แผ่นใบบางสีเขียวเข้มและเป็นร่องตามเส้นใบทางด้านบน ด้านล่างสีเขียว ใบอ่อนมีขนประปรายทั้ง ๒ ด้าน และมีจุดประสีเข้มทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๗ เส้น ปลายเส้นโค้งแต่ไม่จดกัน เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน เป็นแนวบริเวณขอบโคนก้านใบ ก้านใบยาว ๓-๕ ซม. เป็นร่องทางด้านบน อาจมีขนบ้างประปราย โคนแผ่เป็นแฉกรูปแถบ กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่นเชิงประกอบคล้ายช่อกระจะ ออกที่ยอดหรือปลายกิ่ง ช่อยาวได้ถึง ๖๐ ซม. โคนก้านช่อและช่อย่อยมีใบประดับรูปคล้ายใบ กว้าง ๑-๕ มม. ยาว ๐.๕-๒ ซม. ทุกส่วนมีขนนุ่มค่อนข้างหนาแน่น แต่ละช่อประกอบด้วยช่อย่อยจำนวนมากเมื่อบานเต็มที่กว้างประมาณ ๒ ซม. ก้านช่อย่อยยาวประมาณ ๕ มม. แต่ละช่อย่อยไม่มีดอกวงนอก มีแต่ดอกวงในจำนวนมากเรียงอัดแน่นบนฐานดอก ซึ่งนูนคล้ายกระดุม กว้างประมาณ ๔ มม. มีวงใบประดับรูปใบหอกยาว ๒-๕ มม. เรียงเป็นวงรองรับ ๓-๔ ชั้น กลีบเลี้ยงเป็นเส้นคล้ายเส้นด้ายสีขาว ยาวประมาณ ๕ มม. กลีบดอกสีเหลือง สีเหลืองแกมม่วงอ่อน หรือสีขาวแกมม่วงอ่อนยาวประมาณ ๗ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก เกสรเพศผู้ ๕ เกสร เรียงสลับกับแฉกกลีบดอก ก้านชูอับเรณูรูปคล้ายเส้นด้าย อับเรณูรูปรีหรือรูปขอบขนาน เชื่อมติดกันทางด้านข้าง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบรูปทรงรี มีต่อมตามผิวประปราย มี ๑ ช่อง และมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียมี ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงรี ยาว ๑-๒ มม.มีขนต่อมประปราย มีกลีบเลี้ยงติดทนรอบปลายผลเป็นเส้นละเอียดสีขาว ยาวประมาณ ๕ มม. เมล็ดรูปทรงรี

 เขียงผ่าข้างมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามป่าสนเขา ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๐๐๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูฏาน ปากีสถาน ศรีลังกา เมียนมา จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และฟิลิปปินส์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เขียงผ่าข้าง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Blumea lanceolaria (Roxb.) Druce
ชื่อสกุล
Blumea
คำระบุชนิด
lanceolaria
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Druce, George Claridge
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Druce, George Claridge (1850-1932)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย