เขาควายแม่หลูบ

Uncaria macrophylla Wall.

ชื่ออื่น ๆ
ควายแม่หลูบ (เชียงใหม่)
ไม้เถา สำต้นและกิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม ง่ามใบมักมีหนามเรียวโค้งตรงข้ามกัน ๑ คู่ ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปรี หูใบระหว่างก้านใบมี ๓ แฉก ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามง่ามใบ ดอกสีขาวอมเขียวอ่อน ผลแบบผลแห้งแตก รูปกระสวย

เขาควายแม่หลูบเป็นไม้เถาขนาดใหญ่ ลำต้นและกิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม ไส้ในเป็นเนื้อหรือเยื่อนุ่มสีขาวหรืออาจเป็นโพรง กิ่งแยกจากลำต้นตามง่ามใบตรงข้ามสลับตั้งฉาก ตามง่ามใบถ้าไม่แตกกิ่งมักมีหนามเรียวโค้งแทน ๑ คู่

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๕-๑๐ ซม. ยาว ๙-๑๐ ซม. ปลายหยักคอดเป็นติ่งยาว โคนมนป้านหรือหยักเว้าเล็กน้อย ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบหนา ด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน ด้านล่างมีขนสากและมักมีคราบขาว เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบเป็นร่องด้านบน ด้านล่างนูน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น ปลายเส้นโค้งจรดกันก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยแบบเส้นขั้นบันไดเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๓-๑ ซม. หูใบระหว่างก้านใบปลายแยก ๓ แฉก แฉกกลางยาวกว่าแฉกข้าง ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบหรือเหนือรอยแผลใบตามกิ่ง เส้นผ่านศูนย์กลางช่อที่บานเต็มที่ ๔-๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๒.๕-๖ ซม. มีขนนุ่มประปราย ดอกเล็ก กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็นแฉกรูปขอบขนานแคบและยาวเท่ากับส่วนที่ติดเป็นหลอด มีขนสั้นสีนวล กลีบดอกสีขาวอมเขียวอ่อน ลักษณะคล้ายกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้ ๕ อัน ติดอยู่ในหลอดกลีบดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปรี มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวพ้นหลอดกลีบดอกขึ้นมา ๕-๗ มม. ช่อผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๑๐ ซม. มีขนสั้นคลุม

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกระสวย ยาว ๑.๕-๒ ซม. เมื่อแก่แตกเป็น ๒ ซีก

 เขาควายแม่หลูบมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ตามภูเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๗๐๐-๑,๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย เนปาล ภูฐาน บังกลาเทศ และภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เขาควายแม่หลูบ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Uncaria macrophylla Wall.
ชื่อสกุล
Uncaria
คำระบุชนิด
macrophylla
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1786-1854)
ชื่ออื่น ๆ
ควายแม่หลูบ (เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย