เขลง

Dialium cochinchinense Pierre

ชื่ออื่น ๆ
กาหยี, หยี (ใต้); เคง, หมากเคง (ตะวันออกเฉียงเหนือ); นางดำ (ตะวันออก); อีด่าง (เหนือ)
ไม้ต้น ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อยรูปไข่แกมรูปรีถึงรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกสีขาวอมเขียว ผลแบบผลแห้งไม่แตก กลมรี สุกสีดำ

เขลงเป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๒๕ ม. กิ่งอ่อนมีขนสีเทานุ่ม

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน แกนกลางยาว ๕-๑๐ ซม. ก้านใบประกอบยาว ๑-๒ ซม. ใบย่อย ๕-๙ ใบ เรียงสลับ รูปไข่แกมรูปรีถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๔.๕ ซม. ยาว ๔-๗ ซม. ปลายทู่ถึงเป็นติ่งแหลม โคนมนบางครั้งสอบเบี้ยว ยกเว้นใบย่อยที่ปลาย ผิวเกลี้ยงถึงมีขนประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น เชื่อมติดกันใกล้ขอบใบ ก้านใบย่อยยาว ๔-๕ มม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว ๑๐-๓๐ ซม. มีขน ดอกเล็ก สีขาวอมเขียว ก้านดอกสั้นมาก มีขน กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปรี ปลายมน ยาวประมาณ ๔ มม. เรียงซ้อนเหลื่อมกัน ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มสีเทา ด้านในเกลี้ยง ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ ๒ อัน ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปรี มีขน มี ๑ ช่อง และมีออวุล ๑-๒ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก ผนังผลชั้นนอกบางแห้ง ชั้นในนุ่ม กลมรีถึงรูปไข่ กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. มีขนนุ่ม สุกสีดำ มี ๑ เมล็ด เมล็ดแบน รูปรี สีน้ำตาลอ่อน กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๙ มม.

 เขลงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๕๐๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนมกราคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน

 ผนังผลชั้นในเป็นเนื้อกินได้ รสเปรี้ยวอมหวาน เนื้อไม้แข็งแรงทนทาน ทนต่อมอดและปลวก เหมาะสำหรับงานก่อสร้างที่รับน้ำหนักมาก เช่น คาน รอด ตง เสา ดุมและเพลาเกวียน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เขลง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dialium cochinchinense Pierre
ชื่อสกุล
Dialium
คำระบุชนิด
cochinchinense
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Pierre, Jean Baptiste Louis
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1833-1905)
ชื่ออื่น ๆ
กาหยี, หยี (ใต้); เคง, หมากเคง (ตะวันออกเฉียงเหนือ); นางดำ (ตะวันออก); อีด่าง (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม