เขยแม่ลาน้อย

Glycosmis parkinsonii Tanaka

ชื่ออื่น ๆ
เขยแม่ลาน
ไม้พุ่มถึงไม้ต้นขนาดเล็ก เปลือกบาง กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสั้นสีน้ำตาลประปราย ใบประกอบแบบขนนกลดรูปเหลือใบเดียว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ดอกเล็กสีขาว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกระสวยหรือรูปทรงรี เมล็ดมี ๑-๒ เมล็ด รูปคล้ายผล

เขยแม่ลาน้อยเป็นไม้พุ่มถึงไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ ๑.๕ ม. เปลือกบาง สีน้ำตาล กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสั้นสีน้ำตาลประปราย

 ใบประกอบแบบขนนกลดรูปเหลือใบเดียว เรียงเวียนรูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๑-๓.๕ ซม. ยาว ๒.๕-๗ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนสอบหรือรูปลิ่ม ขอบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น เห็นไม่ชัด แผ่นใบบางคล้ายกระดาษมีต่อมน้ำมันโปร่งแสงขนาดเล็กจำนวนมากกระจายทั่วแผ่นใบ ด้านล่างตามเส้นกลางใบมีขนประปรายถึงเกลี้ยงก้านใบยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนสั้นสีน้ำตาลแดงถึงเกลี้ยง

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ยาว ๐.๕-๑ ซม. ทุกส่วนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่นแต่ละช่อมี ๓-๔ ดอก ก้านดอกสั้นมาก ดอกเล็ก สีขาวกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ ๔ กลีบ พบน้อยที่มี ๓ กลีบ เกสรเพศผู้ ๘ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ เกลี้ยงมี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมีขนละเอียด

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกระสวยหรือรูปทรงรี ยาวประมาณ ๒ ซม. สุกสีม่วงแดง เปลือกบาง มีต่อมน้ำมันกระจายทั่วผล เมล็ดมี ๑-๒ เมล็ด รูปคล้ายผลยาวประมาณ ๑.๕ ซม.

 เขยแม่ลาน้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามป่าดิบเขาใกล้ลำธาร ที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๑,๕๐๐ ม. เป็นผลเดือนมกราคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา

 พรรณไม้ชนิดนี้เดิมใช้ชื่อเรียกว่า เขยแม่ลานแต่เนื่องจากเก็บตัวอย่างได้จากอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น เขยแม่ลาน้อย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เขยแม่ลาน้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Glycosmis parkinsonii Tanaka
ชื่อสกุล
Glycosmis
คำระบุชนิด
parkinsonii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Tanaka, Tyôzaburô
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1885-1976)
ชื่ออื่น ๆ
เขยแม่ลาน
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายทนงศักดิ์ จงอนุรักษ์