เขกา

Maclura andamanicum (King) King

ไม้เถาเนื้อแข็ง ลำต้นและกิ่งมีปุ่มปมและหนามยาว ทุกส่วนมียางขาว ใบเรียงเวียน รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือแกมรูปไข่กลับ ดอกแยกเพศร่วมต้น อยู่ต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง ไม่มีกลีบดอก ผลแบบผลรวม ผลย่อยแบบผลแห้งเมล็ดล่อน

เขกาเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๑๐ ซม. ยาว ๑๐-๒๐ ม. ทุกส่วนมียางขาว กิ่งอ่อนมีรอยแผลใบและช่องอากาศทั่วไป กิ่งแก่และลำต้นสีเทาอมน้ำตาล มีปุ่มปมมาก และมีหนามยาวถึง ๔ ซม. ตามบริเวณโคนลำต้น

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๔-๕ ซม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนสอบ ขอบเรียบแต่ม้วนกลับเล็กน้อยเมื่อใบแห้ง แผ่นใบหนา เกลี้ยงเป็นมัน เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๒ เส้น แต่ละเส้นปลายโค้งจรดกันก่อนถึงขอบใบ ใบแห้งสีน้ำตาลอมดำ ก้านใบยาว ๒-๓ ซม. หูใบเรียวเล็กและร่วงง่าย

 ดอกแยกเพศร่วมต้น อยู่ต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๖-๑ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. มีขนหรือเกล็ดสีน้ำตาลแดงหนาแน่น โคนก้านช่อดอกเพศผู้มีใบประดับรูปสามเหลี่ยมเล็ก ๑ ใบ กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ ๔ อัน เกสรเพศเมียที่เป็นหมันมีขนคลุมแน่น ดอกเพศเมียแต่ละดอกมีกลีบเลี้ยงที่ฉ่ำน้ำเป็นแฉกแหลม ๔ แฉก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่องและมีออวุล ๑ เม็ด

 ผลแบบผลรวม ผลย่อยแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รวมกันอยู่บนฐานดอกฉ่ำน้ำ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๒ ซม.

 เขกามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลางและภาคตะวันออก ขึ้นตามป่าเบญจพรรณชื้น ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึง ๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลระหว่างเดือนธันวาคมถึงมีนาคม มักผลิใบใหม่พร้อมกับช่วงที่ออกดอก ในต่างประเทศพบที่อินเดียและพม่า.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เขกา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Maclura andamanicum (King) King
ชื่อสกุล
Maclura
คำระบุชนิด
andamanicum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- King, George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- King, George (1840-1909)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย