เกี๋ยงป่า

Pandanus furcatus Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
เก๋งหลวง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน); เกี๋ยงหลวง, เตย (เหนือ); ชนัง, มะขะนัดป่า (ละว้า-แม่ฮ่องสอน); ชั้งลี (
ไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น มีรากค้ำ ใบเรียงเวียนแน่นตามปลายลำต้น รูปขอบขนาน ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกเพศผู้กลิ่นหอม ช่อดอกเพศเมียรูปขอบขนาน ออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง เบียดกันเป็นแท่งรูปรีหรือทรงกระบอก

เกี๋ยงป่าเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น สูง ๔-๕ ม. มีรากค้ำ

 ใบเดี่ยว เรียงเวียนกันแน่นตามปลายลำต้น รูปขอบขนาน กว้าง ๔.๕-๘.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒ ม. ค่อย ๆ เรียวแหลมไปหาปลายใบ โคนแผ่เป็นกาบ แผ่นใบหนาเป็นมัน ขอบมีหนามยาวประมาณ ๒ มม. ตอนโคนหนามห่าง ตอนปลายหนามถี่ ปลายสุดหนามยาวประมาณ ๑ มม. เส้นกลางใบด้านล่างมีหนามยาวห่าง ๆ เส้นใบขนานไปตามความยาวของใบเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน

 ช่อดอกแยกเพศต่างต้น มีดอกจำนวนมาก ติดบนแกนกลางช่อ มีกาบเนื้อค่อนข้างหนาเป็นมัน ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ช่อดอกเพศผู้กว้างประมาณ ๓ ซม. ยาวประมาณ ๑๕ ซม. กลิ่นหอม แต่ละดอกมีเกสรเพศผู้ ๘-๑๔ อัน ต่อหนึ่งกลุ่ม อับเรณูแหลมมีติ่ง ช่อดอกเพศเมียรูปขอบขนานออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ปลายมีหนามเป็นง่าม

 ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง เบียดกันแน่นเป็นแท่งรูปรีหรือทรงกระบอก กว้าง ๘-๑๕ ซม. ยาว ๒๐-๖๐ ซม. ก้านช่อผลยาวประมาณ ๑๕ ซม. ผลสุกสีเหลือง กลิ่นหอมแกนกินได้ แต่ละผลยาว ๒.๕-๕ ซม. รูปร่างและขนาดแตกต่างกัน ผลที่อยู่ตอนโคนสั้นยอดแบน มี ๒ ปุ่ม ผลตอนกลางมี ๕-๗ ปุ่ม แต่ละปุ่มมีหนามเป็นง่ามแข็ง ผลที่อยู่ตอนปลายยาวยอดมีหนามแหลม

 เกี๋ยงป่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ขึ้นตามป่าดิบ ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เทือกเขาหิมาลัย พม่า และหมู่เกาะมลายู.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เกี๋ยงป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pandanus furcatus Roxb.
ชื่อสกุล
Pandanus
คำระบุชนิด
furcatus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
เก๋งหลวง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน); เกี๋ยงหลวง, เตย (เหนือ); ชนัง, มะขะนัดป่า (ละว้า-แม่ฮ่องสอน); ชั้งลี (
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต