เกากีฉ่าย

Lycium chinense Mill.

ไม้พุ่ม มีหนามแหลมตามง่ามใบ ใบเรียงสลับ รูปรี ดอกออกตามง่ามใบ โคนดอกสีเหลือง ปลายสีม่วง ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปรีแกมรูปไข่ สุกสีแดง

เกากีฉ่ายเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๒ ม. มีหนามแหลมคมตามง่ามใบ

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกระจุก กระจุกละ ๓ ใบ ถ้าออกเป็นกระจุกใบกลางใหญ่กว่า ๒ ใบข้างซึ่งมีขนาดไล่เลี่ยกัน ใบรูปรี รูปซ้อน รูปไข่ หรือรูปคล้ายสี่เหลี่ยม ข้าวหลามตัดมุมมน กว้าง ๐.๓-๒ ซม. ยาว ๐.๘-๖ ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ ๒-๔ เส้น ก้านใบสั้นและแผ่ออกเล็กน้อย

 ดอกเดี่ยว ออกตามง่ามใบ ก้านดอกยาว ๐.๕-๑.๘ ซม. กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูประฆังยาว ๒-๘ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ ปลายแหลม ขนาดไม่เท่ากัน กลีบดอกสีเหลืองโคนติดกันเป็นหลอด ยาว ๑-๑.๕ ซม. ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก สีม่วง รูปไข่กลับหรือค่อนข้างกลม ยาวประมาณ ๘ มม. เกสรเพศผู้ ๕ อัน ติดอยู่ที่ครึ่งบนของหลอดกลีบดอกส่วนล่างของก้านชูอับเรณูมีขนยาวนุ่ม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบรูปไข่ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑-๑.๒ ซม.

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปรีแกมรูปไข่ กว้าง ๕-๘ มม. ยาว ๑-๒ ซม. สุกสีแดง เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก สีขาว รูปไต เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มม.

 เกากีฉ่ายเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศจีนและญี่ปุ่น นำเข้ามาปลูกกันทั่วไปในประเทศไทย ใช้ผล ราก ต้น ใบ และเปลือกรากเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงสายตา บำรุงเลือด ขับปัสสาวะ แก้ไอ แก้ไข้ แก้เหงือกบวม แก้โรคเบาหวาน และโรคไต ใบและผลนำมาเป็นอาหารได้ (Keys, 1976; Stuart, 1979; Wu, 1981).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เกากีฉ่าย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Lycium chinense Mill.
ชื่อสกุล
Lycium
คำระบุชนิด
chinense
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Miller, Philip
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1691-1771)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.กัลยา ภราไดย