ปอกระเจาฝักยาว

Corchorus olitorius L.

ปอกระเจาฝักยาวมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์คล้ายปอกระเจาฝักกลม แต่ดอกใหญ่ ใบยาวกว่า และผลเป็นฝักรูปทรงกระบอกยาว ปลายคอดแหลม กว้าง ๓-๘ มม. ยาว ๖-๑๐ ซม. เมื่อแก่แตกเป็น ๓-๖ ซีก ภายในผลมีผนังกั้น

มีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตร้อนของทวีปเอเชียและแอฟริกา มีแหล่งปลูกในประเทศไทยเช่นเดียวกันกับปอกระเจาฝักกลม แต่สภาพพื้นที่ต้องเป็นที่ดอน ไม่มีน้ำขัง

 ในประเทศไทยเท่าที่พบหลักฐาน เริ่มปลูกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๓ โดยกรมเกษตรและการประมง (ชื่อในขณะนั้น) ได้รณรงค์ส่งเสริมพื้นที่การปลูกที่สุโขทัยบางส่วน และตั้งแต่ จ. ชัยนาทลงมาจนถึงอยุธยา สุพรรณบุรี เพื่อเพิ่มพูนรายได้และใช้เป็นวัตถุดิบในการทอกระสอบ โดยขั้นแรกได้ใช้พันธุ์พื้นเมือง คือ พันธุ์อยุธยา และพันธุ์พม่า เพื่อผลิตเส้นใยป้อนโรงงานทอกระสอบซึ่งรัฐบาลมีนโยบายให้จัดตั้งขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นต้นมา ได้มีหน่วยงานราชการและเอกชนนำเมล็ดพันธุ์ปอกระเจาจากต่างประเทศเข้ามาปลูกและขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนมากขึ้น ได้ดำเนินการทดลองและขยายพื้นที่การผลิตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จ. หนองคาย สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี

 ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๑ รัฐบาลได้กำหนดให้ปอกระเจาเป็นพืชเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีการปลูกปอกระเจาตามริมฝั่งน้ำของบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนหลายจังหวัด แต่พื้นที่ปลูกลดน้อยลงเนื่องจากต้นทุนในการผลิตสูง ในขณะที่ราคาและผลผลิตขึ้นลงไม่แน่นอนในแต่ละปี เกษตรกรจึงหันไปสนใจพืชอื่นที่ให้รายได้ดีกว่า

 เส้นใยจากเปลือกของลำต้นของปอกระเจาฝักกลมและปอกระเจาฝักยาวเมื่อลอกออกมาแล้วเรียกว่า ปอ นำไปใช้ทอกระสอบใส่ผลิตผลทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด ข้าวสาร น้ำตาล ใช้ทอเป็นผ้า ทำพรม เยื่อกระดาษ ใบปอกระเจาทั้ง ๒ ชนิด ทำให้สุกแล้วกินได้

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ปอกระเจาฝักยาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Corchorus olitorius L.
ชื่อสกุล
Corchorus
คำระบุชนิด
olitorius
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายเนาวรัตน์ เสริมศรี