ต้างใหญ่

Hoya pachyclada Kerr

ชื่ออื่น ๆ
ต้าง (เลย); ป้าง (กาญจนบุรี)
ไม้เถาอิงอาศัย ทุกส่วนมียางสีขาวคล้ายน้ำนม ลำต้นและกิ่งค่อนข้างสั้น อวบแข็ง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กลับ รูปรี หรือรูปไข่ ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกทางด้านข้างของโคนก้านใบ ดอกสีขาวหรือสีขาวนวล มีกลิ่นหอม เมื่อบานเต็มที่รูปคล้ายวงล้อ ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว สีเขียว รูปทรงกระบอก เมล็ดค่อนข้างแบน รูปขอบขนาน สีน้ำตาล มีจำนวนมาก ปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่สีขาว

 ต้างใหญ่เป็นไม้เถาอิงอาศัย ทุกส่วนมียางสีขาวคล้ายน้ำนม ลำต้นและกิ่งค่อนข้างสั้น อวบแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๖-๑ ซม. ผิวค่อนข้างเรียบ เมื่อแก่สีเขียวถึงสีเทาแกมสีน้ำตาล

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กลับ รูปรี หรือรูปไข่กว้าง ๔.๕-๗ ซม. ยาว ๗-๑๑ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลมสั้น โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนังและค่อนข้างอวบน้ำ ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสี


เขียวอ่อน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น เห็นไม่ชัดทั้ง ๒ ด้าน ยกเว้นเส้นแขนงใบ ๒ คู่ล่างสุดที่ออกใกล้โคนใบเห็นเด่นชัด ปลายเส้นโค้งเกือบจดปลายใบ ก้านใบอวบหนา เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๖.๕ มม. ยาว ๑-๑.๘ ซม.

 ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกทางด้านข้างของโคนก้านใบ แต่ละช่อมี ๒๐-๕๐ ดอก ก้านช่อดอกค่อนข้างอวบหนา เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๘ มม. ยาว ๓-๑๐ ซม. มีขนสั้น ดอกออกที่ปลายแกนช่อเดิมได้หลายครั้ง ก้านดอกยาว ๒-๓ ซม. มีขนสั้น กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ กว้างและยาว ๑.๕-๒ มม. ปลายแหลมหรือมน ด้านนอกและขอบกลีบมีขนสั้น ดอกสีขาวหรือสีขาวนวล มีกลิ่นหอมเมื่อบานเต็มที่รูปคล้ายวงล้อ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม. กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวกลีบ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยมกว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๖-๘ มม. ปลายแหลม ขอบและปลายม้วนลง ผิวด้านในมีขนละเอียด ผิวด้านนอกเกลี้ยงกลางดอกมีรยางค์เส้าเกสร ๕ รยางค์ สีขาว รูปไข่กลับหรือรูปรี กว้าง ๑.๕-๑.๗ มม. ยาว ๒-๒.๒ มม. ปลายด้านนอกแหลม ปลายด้านในเป็นติ่งแหลมและตั้งขึ้นเล็กน้อย สีเหลืองอ่อน สีชมพู หรือสีม่วงแดง เกสรเพศผู้ ๕ เกสร เชื่อมติดกันเป็นเส้าเกสร ชุดกลุ่มเรณูมีกลุ่มเรณู ๒ กลุ่ม สีเหลือง รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๐.๒ มม. ยาวประมาณ ๐.๗ มม. อยู่ในแนวตั้ง ก้านกลุ่มเรณูสั้นปุ่มยึดก้านกลุ่มเรณูสีน้ำตาลดำ รูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๐.๑๕ มม. ยาวประมาณ ๐.๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบมี ๒ รังไข่ แยกจากกัน แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นและเชื่อมติดกันยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม มี ๕ เหลี่ยม

 ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว สีเขียว รูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๒ ซม. ยาว ๑๐-๑๒ ซม. มีขนสั้นนุ่ม ปลายผลมน เมล็ดค่อนข้างแบนรูปขอบขนาน สีน้ำตาล กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. มีจำนวนมาก ปลายด้านหนึ่งมีขนเป็นพู่สีขาว ยาว ๒.๕-๓ ซม.

 ต้างใหญ่เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีการกระจายพันธุ์เกือบทุกภาค ยกเว้นทางภาคใต้ พบตามป่าเต็งรัง ออกดอกและเป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ต้างใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hoya pachyclada Kerr
ชื่อสกุล
Hoya
คำระบุชนิด
pachyclada
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kerr, Arthur Francis George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1877-1942)
ชื่ออื่น ๆ
ต้าง (เลย); ป้าง (กาญจนบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.มานิต คิดอยู่