ต้างบุก

Trevesia burckii Boerl.

ไม้พุ่มถึงไม้ต้นขนาดเล็ก มีหนามกระจายทั่วลำต้น กิ่งเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปมือ มีส่วนโคนที่เชื่อมติดกันเป็นวงค่อนข้างกลม ปลายแยกเป็น ๖-๘ แฉก แต่ละแฉกรูปรีถึงรูปขอบขนาน หูใบอยู่ในซอกก้านใบ ติดทน ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มแยกแขนง ออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อซี่ร่ม มี ๖-๘ ช่อ ดอกสีเหลืองอ่อน ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล เมล็ดค่อนข้างแบน

ต้างบุกเป็นไม้พุ่มถึงไม้ต้น สูง ๓-๕ ม. มีหนามกระจายทั่วลำต้น กิ่งเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปมือ มีส่วนโคนที่เชื่อมติดกันเป็นวงค่อนข้างกลม ปลายแยกเป็น ๖-๘ แฉก มีก้านแฉก แต่ละแฉกรูปรีถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๕-๑๐ ซม. ยาว ๑๔-๒๐ ซม. ปลายแหลม โคนแฉกรูปลิ่มถึงมน ขอบจักฟันเลื่อยถึงหยักเว้าแบบขนนก แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยง เส้นจากโคนใบ ๖-๙ เส้น นูนทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบของแต่ละแฉกมีข้างละ ๔-๖ เส้น ปลายเส้นชิดขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๔๐-๘๐ ซม. เกลี้ยง หูใบอยู่ในซอกก้านใบ ติดทน

 ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มแยกแขนง ออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ยาว ๒๐-๒๕ ซม. ช่อย่อยแบบช่อซี่ร่ม มี ๖-๘ ช่อ ก้านช่อย่อยยาว ๔-๑๕ ซม. เกลี้ยง แต่ละช่อย่อยมี ๑๕-๔๐ ดอก ใบประดับรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๑-๒ ซม. ติดทน ดอกสีเหลืองอ่อน ก้านดอกเรียว ยาว ๑.๕-๓.๕ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๘ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. กลีบดอก ๘ กลีบ รูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. เรียงจดกันในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๘ เกสร เรียงสลับกับกลีบดอก อับเรณูรูปทรงรี รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ยาวประมาณ ๓ มม. เกลี้ยง มี ๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม กว้าง ๖-๘ มม. ยาว ๗-๘ มม. แต่ละช่อย่อยมี ๑๕-๔๐ ผล ก้านผลยาว ๑.๘-๔ ซม. มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล ยาวประมาณ ๑.๕ มม. เมล็ดค่อนข้างแบน

 ต้างบุกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐-๑๕๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่บังกลาเทศ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ต้างบุก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Trevesia burckii Boerl.
ชื่อสกุล
Trevesia
คำระบุชนิด
burckii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Bonati, Gustave Henri
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1873-1927)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายเสกสรร ไกรทองสุข