ต้างถิ่น

Brassaiopsis griffithii C. B. Clarke

ไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้นและกิ่งเกลี้ยงถึงมีขนคายละเอียด ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปมือ ปลายแยกเป็น ๗-๙ แฉก แต่ละแฉกรูปขอบขนานถึงรูปรี หูใบอยู่ในซอกก้านใบ รูปสามเหลี่ยม ติดทน ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มแยกแขนง ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อซี่ร่ม ดอกสีขาว ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม มี ๑-๒ เมล็ด

ต้างถิ่นเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๐ ม. ลำต้นและกิ่งเกลี้ยงถึงมีขนคายละเอียด

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปมือ ปลายแยกเป็น ๗-๙ แฉก ทั้งใบกว้าง ๕-๑๒ ซม. ยาว ๑๓-๓๗ ซม. แต่ละแฉกรูปขอบขนานถึงรูปรี ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนตัดถึงรูปหัวใจ ขอบจักฟันเลื่อยถี่ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน หรือด้านล่างมีขนคายละเอียดตามเส้นใบ เส้นกลางแฉกนูนทั้ง ๒ ด้าน เส้นจากโคนใบ ๗-๙ เส้น ปลายเส้นแขนงใบเรียงจดกัน เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๑๗-๒๗ ซม. เกลี้ยงถึงมีขนคายละเอียด หูใบอยู่ในซอกก้านใบ รูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ติดทน

 ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มแยกแขนง ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อซี่ร่ม ก้านช่อดอกยาว ๓-๒๐ ซม. แต่ละช่อมี ๒๐-๔๔ ดอก ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ก้านดอกยาว ๐.๕-๑.๖ ซม. ดอกสีขาว กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑ มม. มีขน กลีบดอก ๕ กลีบ รูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูแยกเป็นอิสระ เรียงสลับกับกลีบดอก อับเรณูรูปทรงรี รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๒-๓ ซม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม กว้างและยาว ๓-๖ มม. ก้านช่อผลยาว ๒-๑๑ ซม. เกลี้ยงถึงมีขนคายละเอียด แต่ละช่อมี ๑๐-๒๖ ผล ก้านผลยาว ๑-๑.๕ ซม. มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล ยาว ๒-๓ มม. เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม มี ๑-๒ เมล็ด

 ต้างถิ่นมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐๐-๒,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนธันวาคม เป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย บังกลาเทศ และเมียนมา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ต้างถิ่น
ชื่อวิทยาศาสตร์
Brassaiopsis griffithii C. B. Clarke
ชื่อสกุล
Brassaiopsis
คำระบุชนิด
griffithii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Clarke, Charles Baron
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1832-1906)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายเสกสรร ไกรทองสุข