ต่างเบ้อ

Mussaenda cordifolia Wall. ex G. Don

ชื่ออื่น ๆ
กำเบีย (ตะวันออกเฉียงเหนือ); ต่างดอก, ใบต่างดอก (กลาง); ต้างออก (ใต้)
ไม้พุ่มรอเลื้อย กิ่งอ่อนมีสีน้ำตาลแดงทั่วไป ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปไข่ หรือรูปใบหอกแคบ หูใบระหว่างก้านใบรูปคล้ายสามเหลี่ยมปลายแหลม ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ออกที่ปลายกิ่ง ดอกสีส้ม ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรี เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

ต่างเบ้อเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ยาวประมาณ ๑๓ ม. กิ่งอ่อนมีสีน้ำตาลแดงทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปไข่ หรือรูปใบหอกแคบ กว้าง ๒.๕-๖.๕ ซม. ยาว ๖-๑๔.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมน มนกลม หรือรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เกลี้ยงหรือค่อนข้างเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๑-๑๖ เส้น โค้งขึ้น เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๐.๕-๒ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปคล้ายสามเหลี่ยมปลายแหลม ยาวประมาณ ๔ มม. มีขนสีน้ำตาล

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ออกที่ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น ๕ แฉก มีขนหนาแน่น แฉกกลีบเลี้ยง ๔ แฉกขนาดเล็ก คล้ายหนาม อีก ๑ แฉกขยายใหญ่เป็นรูปช้อนสีขาว กลีบดอกสีส้ม โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปทรงกระบอก ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ขนาดเล็ก เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดในหลอดดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ผลอ่อนสีเขียว ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรี กว้าง ๒-๒.๕ มม. ยาว ๒-๔ มม. มีช่องอากาศจำนวนมาก มีรอยของกลีบเลี้ยงติดที่ปลายผล ผลแก่เนื้อนุ่ม เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 ต่างเบ้อมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ พบตามป่าเต็งรังผสมก่อ ป่าสน และป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนมิถุนายนถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ต่างเบ้อ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Mussaenda cordifolia Wall. ex G. Don
ชื่อสกุล
Mussaenda
คำระบุชนิด
cordifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Don, George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Don, George (1798-1856)
ชื่ออื่น ๆ
กำเบีย (ตะวันออกเฉียงเหนือ); ต่างดอก, ใบต่างดอก (กลาง); ต้างออก (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ประนอม จันทรโณทัย