ตูมพระ

Bhesa paniculata Arn.

ชื่ออื่น ๆ
ตำเสาหนู (ตรัง)
ไม้ต้นขนาดใหญ่ มีพูพอน ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปรีถึงรูปใบหอก ปลายก้านใบที่ติดกับโคนใบด้านล่างหักงอเป็นรูปหัวเข่า หูใบรูปใบหอก มีต่อมที่โคน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ดอกเล็ก สีขาวอมเขียว ผลแบบผลแห้งแตก ส่วนใหญ่ทรงรูปไข่กลับ ค่อนข้างแบน มี ๒ พูที่มักมีขนาดไม่เท่ากัน เมล็ดรูปทรงรีกว้างหรือรูปทรงเกือบกลม มี ๒-๔ เมล็ด เยื่อหุ้มเมล็ดสีชมพู

ตูมพระเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๕ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นประมาณ ๙๐ ซม. มีพูพอนสูงได้ถึง ๒ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปรีถึงรูปใบหอก พบน้อยที่เป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๒-๑๕ ซม. ยาว ๖-๓๙ ซม. ปลายเรียวแหลมสั้นหรือมน โคนมนหรือรูปลิ่ม แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๑-๓๐ เส้น ระหว่างเส้นแขนงใบมีเส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได ก้านใบยาว ๑-๑๐ ซม. ปลายก้านใบที่ติดกับโคนใบด้านล่างหักงอเป็นรูปหัวเข่า หูใบรูปใบหอก ยาว ๑.๗-๓ ซม. มีเส้นละเอียดตามยาว มีต่อมที่โคน เมื่อหูใบร่วงจะมีรอยแผลค่อนข้างใหญ่

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๓๘ ซม. แกนกลางมีขนประปราย และจะค่อย ๆ ร่วงไปเมื่อแก่ ใบประดับมีขนาดเล็ก ร่วงง่าย ก้านดอกยาว ๒-๓ มม. ดอกสีขาวอมเขียว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกลึก ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปคล้ายสามเหลี่ยมหรือรูปขอบขนานกว้าง กว้างและยาว ๐.๗-๑ มม. ด้านนอกมีขนประปราย กลีบดอก ๕ กลีบ บิดเวียน รูปขอบขนานหรือรูปไข่กว้าง กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๑.๗-๒ มม. ปลายมน ด้านในมีขนประปราย เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่จานฐานดอกหรือที่ใต้ขอบนอก ก้านชูอับเรณูยาว ๑.๕-๒ มม. อับเรณูรูปสามเหลี่ยม กว้างและยาวประมาณ ๐.๕ มม. ปลายมน แตกตามยาว จานฐานดอกมี ๕ หยัก รูปขอบขนานกว้าง ปลายตัด รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรี กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑.๕-๒ มม. มักมีกระจุกขนอยู่ที่ปลาย มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๒ แฉก ยาวประมาณ ๑ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็ก

 ผลแบบผลแห้งแตก ส่วนใหญ่ทรงรูปไข่กลับ ค่อนข้างแบน มี ๒ พูที่มักมีขนาดไม่เท่ากัน กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑-๒ ซม. โคนแหลมหรือรูปลิ่ม เมล็ดรูปทรงรีกว้างหรือรูปทรงเกือบกลม กว้าง ๖-๘ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. มี ๒-๔ เมล็ด เยื่อหุ้มเมล็ดสีชมพู

 ตูมพระมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ที่รกร้าง ตามที่แห้งแล้งหรือตามป่าพรุ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดียตอนใต้และภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตูมพระ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Bhesa paniculata Arn.
ชื่อสกุล
Bhesa
คำระบุชนิด
paniculata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Arnott, George Arnott Walker
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1799-1868)
ชื่ออื่น ๆ
ตำเสาหนู (ตรัง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์