ตูมกาขาว

Strychnos nux-blanda A. W. Hill

ชื่ออื่น ๆ
ขี้กา (ตะวันออกเฉียงเหนือ); มะติ่ง, มะติ่งต้น, มะติ่งหมาก (เหนือ)
ไม้ต้นขนาดเล็ก กิ่งแก่สีเทาหรือสีเทาแกมสีเหลือง เปลือกเรียบ เกลี้ยง ไม่มีช่องอากาศ บางครั้งอาจมีหนามแหลมตามซอกใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กว้าง รูปรี รูปไข่แกมรูปรี รูปรีแกมรูปไข่กลับ หรือรูปเกือบกลม เส้นโคนใบมี ๕-๗ เส้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อเชิงหลั่น ออกตามยอดหรือปลายกิ่งแขนง ดอกสีขาวหรือสีขาวอมเขียวอ่อน ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีส้ม เมล็ดแบน รูปค่อนข้างกลมหรือรูปไข่ ผิวมันคล้ายไหม มี ๔-๑๕ เมล็ด

ตูมกาขาวเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. กิ่งอ่อนไร้หนาม กิ่งแก่สีเทาหรือสีเทาแกมสีเหลือง เปลือกเรียบ เกลี้ยง ไม่มีช่องอากาศ บางครั้งอาจมีหนามแหลมตามซอกใบ

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กว้าง รูปรี รูปไข่แกมรูปรี รูปรีแกมรูปไข่กลับ หรือรูปเกือบกลม กว้าง ๒.๓-๑๒ ซม. อาจกว้างได้ถึง ๑๖ ซม. ยาว ๔.๕-๑๕ ซม. อาจยาวได้ถึง ๒๒ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม มักมีติ่งแหลมสั้น โคนมนกลม รูปลิ่ม หรือกึ่งรูปหัวใจ แผ่นใบค่อนข้างบาง เส้นโคนใบมี ๕-๗ เส้น ปลายเส้นโค้งจดปลายใบ ด้านบนเกลี้ยง เส้นกลางใบแบนหรือเป็นร่องตื้น เส้นใบนูนเด่นชัดทางด้านล่าง เกลี้ยงหรือมีขนตามเส้นใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๗ ซม. เกลี้ยงหรือมีขน หูใบลดรูป

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อเชิงหลั่น ออกตามยอดหรือปลายกิ่งแขนง มีขน ช่อดอกเป็นพุ่ม กว้าง ๒.๕-๔ ซม. ยาว ๓-๖ ซม. พบน้อยที่ยาวได้ถึง ๘ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑-๓ ซม. มีขนหรือค่อนข้างเกลี้ยง ดอกมีจำนวนมาก สีขาวหรือสีขาวอมเขียวอ่อน ใบประดับรูปใบหอก ยาว ๑.๕-๖ มม. มีขน ก้านดอกยาวน้อยกว่า ๒.๕ มม. มีขน กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปใบหอกหรือรูปรี กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑.๓-๒.๒ มม. ปลายแหลม ด้านนอกมีขนหรือเกลี้ยง ด้านในเกลี้ยง ขอบมักมีขน กลีบดอกยาว ๐.๙-๑.๔ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๓ เท่าของความยาวแฉก ด้านในหลอดมีขนหนาแน่นตามบริเวณโคนหลอด ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปค่อนข้างกลมหรือรูปใบหอกแกมรูปรี กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๓.๕ มม. ปลายแฉกหนา มีปุ่มเล็กหนาแน่น เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูรูปขอบขนานหรือรูปทรงรีแกมทรงรูปไข่ ยาว ๑.๕-๒ มม. เกลี้ยง ปลายมีแกนอับเรณูยื่นออกเป็นติ่งหรือไร้ติ่ง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลได้ถึง ๘ เม็ด ปลายรังไข่มีขน ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๘ ซม. เปลือกหนาประมาณ ๒.๕ มม. เกลี้ยง สีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีส้ม เมล็ดแบน รูปค่อนข้างกลมหรือรูปไข่ กว้าง ๑.๔-๒.๒ ซม. ยาว ๑.๘-๒.๓ ซม. หนา ๐.๕-๑.๕ ซม. ผิวมันคล้ายไหม มี ๔-๑๕ เมล็ด

 ตูมกาขาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าทุ่ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตูมกาขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Strychnos nux-blanda A. W. Hill
ชื่อสกุล
Strychnos
คำระบุชนิด
nux-blanda
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hill, Arthur William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1875-1941)
ชื่ออื่น ๆ
ขี้กา (ตะวันออกเฉียงเหนือ); มะติ่ง, มะติ่งต้น, มะติ่งหมาก (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์