ตุ้มไก่ต่อมดำ

Ardisia ridleyi King et Gamble

ไม้พุ่ม กิ่งค่อนข้างเรียว มีขนสีน้ำตาลแดง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ รูปรี หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจะกึ่งช่อซี่ร่ม มี ๓-๑๒ ดอก ออกที่ยอดหรือตามปลายกิ่งที่มักทิ้งใบเหลือเพียง ๒-๓ ใบ ดอกสีชมพูอ่อน ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่ สุกสีแดงเข้ม ผิวมีต่อมเล็กคล้ายเป็นจุดหรือประกระจายห่าง ๆ เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

ตุ้มไก่ต่อมดำเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๕ ม. กิ่งค่อนข้างเรียว มีขนสีน้ำตาลแดง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ รูปรี หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓.๕-๔.๕ ซม. ยาว ๘-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบหยักมน มักมีต่อมใหญ่อยู่ตามมุมหยักของขอบใบ แผ่นใบค่อนข้างบาง ด้านบนเกลี้ยง มีต่อมเล็ก ๆ กระจายทั่วไป เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างมีเกล็ดรูปโล่ขนาดเล็กกระจายทั่วไป เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๔ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกันใกล้ขอบใบเส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะกึ่งช่อซี่ร่ม แต่ละช่อมี ๓-๑๒ ดอก ออกที่ยอดหรือตามปลายกิ่งที่มักทิ้งใบเหลือเพียง ๒-๓ ใบ ก้านช่อสั้นมาก ก้านดอกยาว ๑.๗-๓.๔ ซม. มีขน กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๑.๘ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม ปลายมนหรือแหลม ด้านนอกมักมีต่อมเล็ก ๆ และขนละเอียดกลีบดอกสีชมพูอ่อน ยาวประมาณ ๓.๗ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นมาก ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ปลายแหลม ผิวมีต่อมสีดำขนาดเล็กอยู่หนาแน่น เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่หลอดกลีบดอกก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็กแหลม

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่ กว้าง ๗-๘ มม. สุกสีแดงเข้ม ผิวมีต่อมเล็กคล้ายเป็นจุดหรือประกระจายห่าง ๆ เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 ตุ้มไก่ต่อมดำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบ ตามริมลำธาร ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ ๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและสิงคโปร์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตุ้มไก่ต่อมดำ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ardisia ridleyi King et Gamble
ชื่อสกุล
Ardisia
คำระบุชนิด
ridleyi
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- King, George
- Gamble, James Sykes
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- King, George (1840-1909)
- Gamble, James Sykes (1847-1925)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์