ตุนเขียว

Colocasia fallax Schott

ชื่ออื่น ๆ
บอนดอย (ทั่วไป)
ไม้ล้มลุก ขึ้นเป็นกลุ่ม พบน้อยที่ขึ้นเดี่ยว ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าและไหล ใบเดี่ยวแบบก้นปิด มี ๓-๘ ใบ เรียงเวียนแบบกระจุกซ้อนที่ปลายลำต้นใต้ดิน รูปหัวใจแกมรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนานแคบ อาจมีรอยแต้มสีเขียวเข้มหรือสีม่วงเข้มอยู่ระหว่างเส้นแขนงใบ ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ มี ๑-๕ ช่อ ออกจากเหง้าชูช่อเหนือซอกกาบใบ กาบช่อดอกส่วนที่อยู่ใต้รอยคอดสีเขียว ม้วนตามยาวเป็นหลอด รูปทรงกลมแกมรูปทรงรี ส่วนที่อยู่เหนือรอยคอดสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้ม รูปใบหอกแคบหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน เมื่อเจริญเต็มที่กางออก ช่อดอกสั้นกว่าหรือยาวเท่ากับความยาวของกาบช่อดอก ดอกแยกเพศร่วมช่อ มีดอกจำนวนมากเรียงชิดกันแน่นรอบแกนช่อ ไร้กลีบเลี้ยงและกลีบดอก ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่ สีเขียว สุกสีเหลือง เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

ตุนเขียวเป็นไม้ล้มลุก ขึ้นเป็นกลุ่ม พบน้อยที่ขึ้นเดี่ยว สูงได้ถึง ๕๐ ซม. ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าและไหล เหง้าตั้ง กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๗ ซม. ไหลสีเขียวอ่อนหรือสีม่วงอ่อน ตั้งหรือเกาะเลื้อย กว้างได้ถึง ๖ มม. ยาว ๕-๖๐ ซม. ปล้องยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. มีหรือไม่มีหัว หัวทรงรูปไข่หรือทรงรูปไข่แกมรูปทรงกระบอก มีเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๓.๕ ซม.

 ใบเดี่ยวแบบก้นปิด มี ๓-๘ ใบ เรียงเวียนแบบกระจุกซ้อนที่ปลายลำต้นใต้ดิน รูปหัวใจแกมรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนานแคบ กว้าง ๓.๕-๒๙ ซม. ยาว ๘-๓๖ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม โคนเว้ารูปหัวใจ ขอบเป็นคลื่น แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เมื่อแห้งบางคล้ายเยื่อ ด้านบนสีเขียวหรือสีเขียวอ่อน อาจมีรอยแต้มสีเขียวเข้มหรือสีม่วงเข้มอยู่ระหว่างเส้นแขนงใบ ด้านล่างสีอ่อนกว่าและมีนวลเล็กน้อย เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบสีเขียวหรือสีเขียวอ่อน พบบ้างที่มีเส้นตามขวางสีม่วง รูปทรงกระบอก ยาว ๑๒-๕๐ ซม. จากโคนขึ้นมาถึงเกือบครึ่งหนึ่งเป็นกาบใบ

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ มี ๑-๕ ช่อ ออกจากเหง้าชูช่อเหนือซอกกาบใบ กาบช่อดอกยาว ๖.๕-๑๖ ซม. มีรอยคอด ส่วนที่อยู่ใต้รอยคอดสีเขียว ม้วนตามยาวเป็นหลอด รูปทรงกลมแกมรูปทรงรี กว้าง ๐.๗-๑.๗ ซม. ยาว ๑.๕-๔.๒ ซม. ส่วนที่อยู่เหนือรอยคอดสีเหลืองหรือสีเหลืองอมส้ม รูปใบหอกแคบหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๔.๘ ซม. ยาว ๕-๑๒ ซม. ปลายเรียวแหลม เมื่อเจริญเต็มที่กางออก หลังจากนั้นโค้งพับลง ก้านช่อดอกสีเขียว รูปทรงกระบอก ยาว ๔-๒๓ ซม. ช่อดอกยาว ๕-๙ ซม. สั้นกว่าหรือยาวเท่ากับความยาวของกาบช่อดอก ดอกแยกเพศร่วมช่อ ไร้กลีบเลี้ยงและกลีบดอก ช่อดอกมี ๔ ช่วง ช่วงบนสุดเป็นรยางค์สีเหลืองอ่อน รูปทรงกระบอกหรือรูปกรวยแคบ กว้าง ๑-๓ มม. ยาว ๒.๕-๔.๕ ซม. สอบเรียวไปสู่ปลาย ผิวขรุขระ ที่โคนรยางค์มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเรียงหลายแถว ถัดลงมาเป็นช่วงดอกเพศผู้ สีเหลือง รูปทรงกระบอก กว้าง ๓-๖ มม. ยาว ๑-๔.๖ ซม. มีดอกจำนวนมากเรียงชิดกันแน่นรอบแกนช่อ เกสรเพศผู้ ๖-๑๒ เกสร เชื่อมติดกัน มองทางด้านบนเป็นรูปหลายเหลี่ยม ช่วงดอกที่เป็นหมันสีขาว อยู่ระหว่างช่วงดอกเพศผู้กับช่วงดอกเพศเมีย ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. ช่วงบนมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเชื่อมติดกัน มองทางด้านบนเป็นรูปหกเหลี่ยม ช่วงล่างมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันรูปคล้ายกระบอง ส่วนโคนช่อเป็นช่วงดอกเพศเมีย สีเหลืองอ่อนหรือสีเขียว รูปกรวยหรือรูปทรงกระบอก กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๑-๒.๖ ซม. มีดอกจำนวนมากเรียงชิดกันแน่นรอบแกนช่อ ที่โคนมีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันสีขาวหรือสีเหลือง รูปคล้ายตะปูหรือรูปคล้ายหมุด เรียง ๔-๖ แถว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ สีเขียว บางครั้งมีรอยแต้มสีขาว รูปทรงเกือบกลมหรือทรงรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากหรือไร้ก้าน ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่ ยาวประมาณ ๒ มม. สีเขียว สุกสีเหลือง เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 ตุนเขียวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา ป่าไผ่ ป่าริมน้ำ และพื้นที่ริมน้ำ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๖๐๐-๑,๒๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย (อัสสัม) เนปาล บังกลาเทศ เมียนมา ทิเบต จีน และเวียดนาม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตุนเขียว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Colocasia fallax Schott
ชื่อสกุล
Colocasia
คำระบุชนิด
fallax
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Schott, Heinrich Wilhelm
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Schott, Heinrich Wilhelm (1794-1865)
ชื่ออื่น ๆ
บอนดอย (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย และนางสาวกนกพร ชื่นใจดี