ตืดหมาขาว

Desmodium velutinum (Willd.) DC.

ชื่ออื่น ๆ
กระดูกอึ่ง (อุบลราชธานี); กะตึกแป (ลำปาง, เพชรบูรณ์); ขี้ตืดแมว, ชาใบ, ตืดแมวขาว, เหมือดวัว (เชียงให
ไม้พุ่ม ลำต้นตั้ง โค้ง หรืออยู่ในระนาบเดียวกับพื้นดิน มีขนสีน้ำตาลนุ่มหนาแน่น ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย ๑ ใบ เรียงสลับหรือกึ่งสลับ รูปขอบขนาน รูปไข่ รูปไข่กว้าง รูปรี หรือรูปหัวใจ ช่อดอกแบบช่อกระจะเทียมหรือช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกรูปดอกถั่ว สีขาวอมชมพูหรือสีม่วง ผลแบบฝักหักข้อ มี ๔-๗ ข้อ เมล็ดรูปทรงรี สีน้ำตาล มี ๔-๗ เมล็ด

ตืดหมาขาวเป็นไม้พุ่ม ลำต้นตั้ง โค้ง หรืออยู่ในระนาบเดียวกับพื้นดิน สูงได้ถึง ๒ ม. มีขนสีน้ำตาลนุ่มหนาแน่น

 ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย ๑ ใบ เรียงสลับหรือกึ่งสลับ รูปขอบขนาน รูปไข่ รูปไข่กว้าง รูปรีหรือรูปหัวใจ กว้าง ๑.๕-๘ ซม. ยาว ๓-๑๔ ซม. ปลายมนแหลม หรือเรียวแหลม โคนมนถึงรูปหัวใจ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง มีขนสีน้ำตาลนุ่มหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๐ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๐.๓-๑.๒ ซม. มีขนสั้นนุ่ม ก้านใบย่อยยาว ๒-๕ มม. หูใบรูปเส้นด้ายถึงรูปสามเหลี่ยมแคบ กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขนสั้นนุ่ม หูใบย่อยรูปเส้นด้ายถึงรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว ๒-๕ มม. มีขนค่อนข้างเกลี้ยงถึงขนสั้นนุ่ม

 ช่อดอกแบบช่อกระจะเทียมหรือช่อแยกแขนงออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๓๐ ซม. ใบประดับที่ก้านช่อรูปสามเหลี่ยมแคบ กว้าง ๐.๕-๑ มม. ยาว ๒-๘ มม. มีขนนุ่มหนาแน่น ปลายสอบเรียวถึงแหลม ใบประดับที่แขนงช่อรูปขอบขนานถึงรูปแถบ ยาว ๑-๕ มม. มีขนสั้นนุ่ม อาจมีหรือไม่มีใบประดับย่อย ก้านดอกยาว ๑-๓ มม. มีขนรูปตะขอโค้ง ดอกอยู่รวมกันเป็นกระจุก ๒ ดอก ดอกรูปดอกถั่ว สีขาวอมชมพูหรือสีม่วง กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน ยาว ๒-๓ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก กลีบดอก ๕ กลีบ กลีบกลางรูปไข่ถึงรูปไข่กลับกว้าง กว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๔-๖ มม. กลีบคู่ข้างแยกกัน รูปขอบขนานถึงรูปใบหอกกลับ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. กลีบคู่ล่างเชื่อมกัน รูปโค้งถึงตรง รูปรีถึงรูปไข่กลับแคบ เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร มีก้านชูอับเรณูแบบเชื่อมติดกัน ๒ กลุ่ม แต่ละกลุ่มยาวเท่ากัน ยาวประมาณ ๕.๕ มม. อับเรณูยาวประมาณ ๐.๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๖-๗ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒ ซม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบฝักหักข้อ มี ๔-๗ ข้อ ตรงหรือโค้งเล็กน้อย กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๐.๘-๒.๒ ซม. เมล็ดรูปทรงรี สีน้ำตาล กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑-๒ มม. หนาประมาณ ๐.๘ มม. มี ๔-๗ เมล็ด

 ตืดหมาขาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทุกภาค พบตามบริเวณเปิดโล่งของป่าไม่ผลัดใบป่าสน ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๑,๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนตุลาคมถึงมีนาคม เป็นผลเดือนตุลาคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่ทวีปแอฟริกา ศรีลังกา อินเดีย เมียนมา จีน ไต้หวันภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

 ประโยชน์ ชนเผ่าไทใหญ่ทางภาคเหนือของประเทศไทยใช้ใบและลำต้นเป็นสมุนไพร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตืดหมาขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Desmodium velutinum (Willd.) DC.
ชื่อสกุล
Desmodium
คำระบุชนิด
velutinum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Willdenow, Carl Ludwig
- Candolle, Augustin Pyramus de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Willdenow, Carl Ludwig (1765-1812)
- Candolle, Augustin Pyramus de (1778-1841)
ชื่ออื่น ๆ
กระดูกอึ่ง (อุบลราชธานี); กะตึกแป (ลำปาง, เพชรบูรณ์); ขี้ตืดแมว, ชาใบ, ตืดแมวขาว, เหมือดวัว (เชียงให
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายวิษณุ สายศร