ตีนเป็ดดง

Ardisia longipedicellata H. R. Fletcher

ไม้พุ่ม ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ขอบหยักมนและมักมีต่อมใหญ่อยู่ตามขอบใบ ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกที่ยอดหรือตามปลายกิ่ง ก้านช่อดอกสั้น ดอกสีขาว ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม สุกสีแดง เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

ตีนเป็ดดงเป็นไม้พุ่ม สูง ๐.๕-๑.๕ ม. กิ่งรูปทรงกระบอก พบบ้างที่เป็นเหลี่ยม

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๖ ซม. ยาว ๖-๑๙ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบหยักมนและมักมีต่อมใหญ่อยู่ตามขอบใบ อาจมีต่อมเล็ก ๆ ประปรายตามขอบใกล้ปลายใบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เกลี้ยง ด้านล่างมีเกล็ดเล็ก ๆ กระจายทั่วไป เส้นใบเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๕-๒๐ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปเป็นเส้นขอบใน เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกที่ยอดหรือตามปลายกิ่ง ยาว ๓-๘ ซม. ก้านช่อดอกสั้น ก้านดอกยาวประมาณ ๑ ซม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๒ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่หรือรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ มม. ปลายมน ด้านนอกมักมีต่อมเล็กสีม่วง ๑-๒ ต่อม กลีบดอกสีขาว ยาวประมาณ ๔.๕ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นมาก ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้างประมาณ ๒ มม. ปลายแหลม ผิวมีต่อมเล็กสีม่วงประปราย เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่หลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูทรงรูปไข่ ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ด้านหลังมีต่อมเล็กประปราย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๓.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็กแหลม

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๖ มม. สุกสีแดง ก้านผลยาว ๑.๕-๓ ซม. เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 ตีนเป็ดดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคกลาง พบตามป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าไผ่ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่ลาว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตีนเป็ดดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ardisia longipedicellata H. R. Fletcher
ชื่อสกุล
Ardisia
คำระบุชนิด
longipedicellata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Fletcher, Harold Roy
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1907-1978)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์