ตีนฮุ้งดอย

Daiswa polyphylla (Sm.) Raf. var. chinensis (Franch.) M. N. Tamura

ชื่ออื่น ๆ
สัตฤๅษี (เหนือ)
ไม้ล้มลุกหลายปี เหง้ารูปทรงกระบอก ใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบที่ปลายลำต้น มี ๕-๑๑ ใบ ส่วนใหญ่รูปไข่กลับ บางครั้งรูปขอบขนานแกมรูปใบหอกกลับถึงรูปรี ดอกเดี่ยว สีเขียวหรือสีเขียวอมเหลือง ออกที่ยอด ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลม เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงอวบน้ำ

ตีนฮุ้งดอยเป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูง ๐.๕-๑ ม. เหง้ารูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบที่ปลายลำต้น มี ๕-๑๑ ใบ ส่วนใหญ่รูปไข่กลับ บางครั้งรูปขอบขนานแกมรูปใบหอกกลับถึงรูปรี กว้าง ๔.๕-๑๑ ซม. ยาว ๑๓-๒๔ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงแหลมแข็ง โคนรูปลิ่มถึงค่อนข้างมนกลม มักเบี้ยว แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน เส้นแขนงใบออกใกล้โคนใบไปสู่ปลายใบข้างละ ๑-๒ เส้น และมีเส้นแขนงใบตามเส้นกลางใบข้างละ ๓-๘ เส้น เส้นแขนงใบด้านนอกสุดมีเส้นแขนงใบย่อยไปเชื่อมติดกันคล้ายเส้นขอบใน ก้านใบยาว ๑-๖ ซม.

 ดอกเดี่ยว ออกที่ยอด ก้านดอกยาว ๕-๔๐ ซม. กลีบรวม ๔-๑๐ กลีบ พบบ้างที่มีถึง ๑๒ กลีบ เรียงเป็นวง ๒ วง กลีบวงนอก ๓-๘ กลีบ สีเขียวหรือสีเขียวอมเหลือง ลักษณะคล้ายใบ รูปใบหอกถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๑-๓.๕ ซม. ยาว ๖-๑๒.๕ ซม. มักมีก้านกลีบ กลีบวงในสีเขียวอมเหลือง รูปเส้นด้ายถึงรูปแถบแคบ กว้าง ๐.๓-๒ มม. ยาว ๓-๖.๕ ซม. เกสรเพศผู้ ๖-๑๒ เกสร พบบ้างที่มีได้ถึง ๒๑เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๓-๖ มม. อับเรณูค่อนข้างแบน รูปขอบขนาน ยาว ๐.๖-๑.๒ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม มีสันตามยาว ปลายตัด มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น สีเขียวหรือสีม่วง ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๔-๖ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลม ยาว ๒-๔ มม. เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงอวบน้ำ

 ตีนฮุ้งดอยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามป่าก่อผสมสนเขา ป่าดิบเขาต่ำ และป่าไผ่ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๖๕๐-๒,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา ภาคใต้ของจีน ภาคเหนือของเวียดนาม และภาคเหนือของลาว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตีนฮุ้งดอย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Daiswa polyphylla (Sm.) Raf. var. chinensis (Franch.) M. N. Tamura
ชื่อสกุล
Daiswa
คำระบุชนิด
polyphylla
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Smith, James Edward
- Radlkofer, Constantine Samuel
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. chinensis
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Franch.) M. N. Tamura
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Smith, James Edward (1759-1828)
- Radlkofer, Constantine Samuel (1783-1840)
ชื่ออื่น ๆ
สัตฤๅษี (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาววลัยพร วิศวชัยวัฒน์