ตีนปรี

Memecylon corticosum Ridl. var. kratense (Craib) Wijedasa

ชื่ออื่น ๆ
ปังยายา (นครศรีธรรมราช)
ไม้พุ่มถึงไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้นเล็กเรียว กิ่งอ่อนมีปีก ๔ ปีก ปีกค่อย ๆ กว้างขึ้นไปยังปลายกิ่ง กิ่งแก่รูปทรงกระบอก เรียบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอกถึงรูปแถบแกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกเป็นกระจุกกลมแน่นตามซอกใบหรือบนปุ่มแข็งตามกิ่งแก่ที่ใบร่วงแล้ว ดอกสีขาวถึงสีม่วงหรือสีชมพู ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีขาวอมเขียวอ่อน เมื่อสุกสีม่วงถึงสีม่วงเข้ม รูปทรงค่อนข้างกลม ทรงรูปไข่กว้าง หรือรูปชมพู่ มีกลีบเลี้ยงติดทนที่ปลายผล เมล็ดสีน้ำตาลอมเหลือง รูปทรงกลม มี ๑-๒ เมล็ด

ตีนปรีเป็นไม้พุ่มถึงไม้ต้น สูง ๓-๔ ม. ลำต้นเล็กเรียว เปลือกสีน้ำตาลอ่อน แตกเป็นร่องตื้นตามแนวตั้ง ปล้องยาว ๓-๗ ซม. กิ่งอ่อนมีปีก ๔ ปีก ปีกค่อย ๆ กว้างขึ้นไปยังปลายกิ่ง กิ่งแก่รูปทรงกระบอก เรียบ

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอกถึงรูปแถบแกมรูปใบหอก กว้าง ๑-๖ ซม. ยาว ๑๐-๒๗ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนตัดหรือมนกลมถึงกึ่งรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบสีเขียว ค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนเป็นมัน ด้านล่างสีอ่อนกว่า เมื่อแห้งสีน้ำตาลแกมสีเทาอ่อน เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน นูนเด่นชัดทางด้านล่าง เมื่อแห้งสีอ่อนกว่าแผ่นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๑๗ เส้น เห็นไม่ชัด ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปห่างจากขอบใบ ๑-๓ มม. ก้านใบอวบ ยาว ๑.๕-๓ มม. เกลี้ยง หูใบรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาวประมาณ ๒ มม. บางครั้งอาจติดทนอยู่ตามข้อที่ไม่มีใบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกเป็นกระจุกกลมแน่นตามซอกใบหรือบนปุ่มแข็งตามกิ่งแก่ที่ใบร่วงแล้ว ยาวประมาณ ๑ ซม. มี ๗-๑๕ ดอก หรืออาจพบบ้างที่มีได้ถึง ๓๐ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๑-๔ มม. ดอกสีขาวถึงสีม่วงหรือสีชมพู ก้านดอกเรียว ยาว ๓-๔ มม. กลีบเลี้ยงสีขาวนวลถึงสีชมพูหรือสีน้ำเงิน กว้าง ๓-๔ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง คอดบริเวณเหนือรังไข่ ปลายแยกเป็นแฉกตื้น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยม กลีบดอก ๔ กลีบ รูปไข่กว้างหรือรูปค่อนข้างกลม กว้างและยาว ๒-๔ มม. ปลายแหลมทู่ โคนมักมีก้านกลีบ เมื่อเริ่มบานกลีบจะกางออก แล้วโค้งพับลงก่อนร่วง เกสรเพศผู้ ๘ เกสร ก้านชูอับเรณูสีน้ำเงินอมม่วง แบน ยาวประมาณ ๑ มม. อับเรณูสีม่วง ยาวประมาณ ๑ มม. มีรยางค์โค้งเป็นรูปตัวเจ มีต่อมสีแดง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๐.๓ มม. อยู่ตรงกลาง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ยาวประมาณ ๓ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุล ๒-๒๐ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวเล็ก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีขาวอมเขียวอ่อน เมื่อสุกสีม่วงถึงสีม่วงเข้ม รูปทรงค่อนข้างกลม ทรงรูปไข่กว้าง หรือรูปชมพู่ กว้างประมาณ ๘ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ผิวค่อนข้างบาง เกลี้ยงหรือค่อนข้างขรุขระ มีกลีบเลี้ยงติดทนที่ปลายผล ลักษณะนูนเป็นสัน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ มม. ก้านผลยาวได้ถึง ๔ มม. เมล็ดสีน้ำตาลอมเหลือง รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕.๕ มม. มี ๑-๒ เมล็ด

 ตีนปรีมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ มักพบตามป่าดิบหรือป่าไผ่ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมาตอนใต้ กัมพูชา และคาบสมุทรมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตีนปรี
ชื่อวิทยาศาสตร์
Memecylon corticosum Ridl. var. kratense (Craib) Wijedasa
ชื่อสกุล
Memecylon
คำระบุชนิด
corticosum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Ridley, Henry Nicholas
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. kratense
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Craib) Wijedasa
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1855-1956)
ชื่ออื่น ๆ
ปังยายา (นครศรีธรรมราช)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์