ตีนจ้ำ

Ardisia aprica H. R. Fletcher

ชื่ออื่น ๆ
ตีนจำ (ตะวันออก)
ไม้พุ่ม ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่กลับ ด้านบนเกลี้ยง สีเขียวเป็นมัน ด้านล่างมีนวล ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ดอกสีชมพูหรือสีชมพูอมม่วง ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

ตีนจ้ำเป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ ๒๐ ซม. กิ่งสั้นหนา มักเป็นเหลี่ยม ค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๕-๖ ซม. ยาว ๖-๑๕ ซม. ปลายมน โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนเกลี้ยง สีเขียวเป็นมัน ด้านล่างมีนวลและต่อมเล็กจำนวนมาก เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น เห็นไม่ชัดทางด้านบน นูนเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขน

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ยาว ๓-๖ ซม. มีขน ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. ช่อแขนงแบบกึ่งช่อซี่ร่ม มี ๓-๖ ดอก ก้านดอกยาว ๒-๔ มม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๑.๗ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑-๑.๕ มม. ปลายมนหรือแหลม ด้านนอกมีต่อมเล็กสีดำ ขอบมีขนสั้น กลีบดอกสีชมพูหรือสีชมพูอมม่วง ยาวประมาณ ๕ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่ กว้าง ๒-๓ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายมน ด้านนอกมีต่อมเล็กเป็นจุดประ เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ยาวประมาณ ๔ มม. ติดที่หลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูทรงรูปไข่ ยาว ๓-๓.๕ มม. ด้านหลังมีต่อม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๓.๕-๔ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็กแหลม

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๖ มม. เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 ตีนจ้ำเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก พบตามที่โล่ง ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ ๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงมกราคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตีนจ้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ardisia aprica H. R. Fletcher
ชื่อสกุล
Ardisia
คำระบุชนิด
aprica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Fletcher, Harold Roy
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1907-1978)
ชื่ออื่น ๆ
ตีนจำ (ตะวันออก)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์