ติ้วดำ

Cratoxylum neriifolium Kurz

ชื่ออื่น ๆ
ขี้ติ้ว, ติ้วเสลา (เหนือ); สลิว (กลาง)
ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบ มีน้ำยางใสสีเหลือง เปลือกขรุขระ แตกเป็นร่องและแตกเป็นสะเก็ดตามยาว สีเทาอมดำหรือสีเทาอมน้ำตาล ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก รูปรี หรือรูปขอบขนาน ก้านใบสั้นมากหรือไร้ก้าน ใบอ่อนสีม่วงอมแดงหรือสีน้ำตาลอมแดง ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะสั้น ออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อกระจุก แต่ละกระจุกมักมี ๓ ดอก ดอกสีแดงหรือสีแดงอมส้ม เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มีจำนวนมาก เชื่อมติดกันเป็น ๓ กลุ่ม ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงรี สีเขียว เมื่อแห้งสีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลอมดำ กลีบเลี้ยงขยายใหญ่และติดทน หุ้มผลประมาณ ๓ ใน ๔ ของความยาวผล เมล็ดแบน รูปขอบขนาน มีจำนวนมาก มีปีกบาง

ติ้วดำเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๗-๒๐ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๔๐ ซม. มีน้ำยางใสสีเหลือง เปลือกขรุขระ แตกเป็นร่องและแตกเป็นสะเก็ดตามยาว สีเทาอมดำหรือสีเทาอมน้ำตาล กิ่งรูปทรงกระบอกหรือค่อนข้างแบน

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก รูปรี หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๔ ซม. ยาว ๖-๑๕ ซม. ปลายแหลม เรียวแหลม หรือมนกลม โคนมนกลมหรือเว้าเล็กน้อยคล้ายรูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนังและเหนียว เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีอ่อนกว่า มักมีนวล เส้นกลางใบเป็นร่องตื้นทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๔ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบมีเส้นแทรกระหว่างเส้นแขนงใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบสั้นมากหรือไร้ก้าน ใบอ่อนสีม่วงอมแดงหรือสีน้ำตาลอมแดง

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบกึ่งช่อกระจะสั้น ออกตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อกระจุก แต่ละกระจุกมักมี ๓ ดอก ดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๒ ซม. ก้านดอกยาว ๓-๔ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เรียงเป็น ๒ วง กลีบวงนอก ๓ กลีบ กลีบวงใน ๒ กลีบ สีเขียว รูปไข่กลับ กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๕-๖ มม. ค่อนข้างหนา เกลี้ยง มีเส้นกลีบตามยาวหลายเส้น กลีบดอก ๕ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม สีแดงหรือสีแดงอมส้ม รูปไข่กลับหรือรูปไข่กลับกว้าง


กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. เกลี้ยง มีเส้นกลีบตามยาวหลายเส้น เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มีจำนวนมาก เชื่อมติดกันเป็น ๓ กลุ่ม ยาว ๖-๘ มม. อับเรณูสีเหลือง เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเปลี่ยนรูปคล้ายต่อมหนา สีเหลือง ยาวประมาณ ๓ มม. เรียงสลับกับกลุ่มเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรี ยาว ๒-๓ มม. เกลี้ยง มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลหลายเม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๓ ก้าน ยาว ๒-๓ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงรี กว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. ปลายแหลม สีเขียว เมื่อแห้งสีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลอมดำ เกลี้ยง กลีบเลี้ยงขยายใหญ่และติดทน หุ้มผลประมาณ ๓ ใน ๔ ของความยาวผล เมล็ดแบน รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาว ๑-๒ มม. มีจำนวนมาก มีปีกบาง

 ติ้วดำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๘๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา ลาว และกัมพูชา

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ก่อสร้าง ทำเครื่องใช้ เช่น ด้ามค้อน ด้ามสิ่ว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ติ้วดำ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cratoxylum neriifolium Kurz
ชื่อสกุล
Cratoxylum
คำระบุชนิด
neriifolium
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Kurz, Wilhelm Sulpiz
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1834-1878)
ชื่ออื่น ๆ
ขี้ติ้ว, ติ้วเสลา (เหนือ); สลิว (กลาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย