ติ้วขน

Cratoxylum formosum (Jack) Benth. et Hook. f. ex Dyer subsp. pruniflorum (Kurz) Gogelein

ชื่ออื่น ๆ
กวยโชง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); กุยฉ่องเซ้า (กะเหรี่ยง-ลำปาง); ตาว (สตูล); ติ้ว (ทั่วไป); ติ้วแดง, ติ้
ไม้ต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ มีน้ำยางใสสีเหลือง เมื่อแห้งเปลี่ยนเป็นสีดำ เปลือกแตกเป็นสะเก็ด สีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมดำ ลำต้นที่อายุน้อยมีกิ่งเปลี่ยนรูปเป็นหนาม กิ่งอ่อนมีขน ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนาน รูปใบหอก รูปไข่ รูปใบหอกกลับ หรือรูปไข่กลับ แผ่นใบมีขนสั้นนุ่มสีขาวทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างหนาแน่นกว่าด้านบน มีต่อมเป็นจุดเล็กมากสีดำ ใบอ่อนสีแดงหรือสีแดงอมน้ำตาล ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ออกตามกิ่งพร้อมผลิใบ ดอกสีชมพูหรือสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อน เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มีจำนวนมาก เชื่อมติดกันเป็น ๓ กลุ่ม ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรีแกมรูปทรงกระบอก สีเขียวหรือสีแดงแกมสีเขียว เมื่อแห้งสีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลอมดำ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมี ๖-๘ เมล็ด กลีบเลี้ยงขยายใหญ่และติดทน หุ้มผลประมาณ ๑ ใน ๓ ถึงครึ่งหนึ่งของความยาวผล เมล็ดสีน้ำตาล แบน รูปไข่กลับ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ มีปีกบาง

ติ้วขนเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๘-๒๐ ม. มีน้ำยางใสสีเหลือง เมื่อแห้งเปลี่ยนเป็นสีดำ เปลือกแตกเป็นสะเก็ด สีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมดำ ลำต้นที่อายุน้อยมีกิ่งเปลี่ยนรูปเป็นหนาม กิ่งอ่อนมีขน

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนาน รูปใบหอก รูปไข่ รูปใบหอกกลับ หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๔.๕ ซม. ยาว ๕-๑๓ ซม. ปลายแหลม มน มนกลม หรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีอ่อนกว่า มีขนสั้นนุ่มสีขาวทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างหนาแน่นกว่าด้านบน มีต่อมเป็นจุดเล็กมากสีดำ เส้นกลางใบนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๒ เส้น ปลาย


เส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ มีเส้นแทรกระหว่างเส้นแขนงใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๒-๘ มม. มีขนสั้นนุ่มสีขาว ใบอ่อนสีแดงหรือสีแดงอมน้ำตาล มีขนสั้นนุ่มสีขาวหนาแน่น

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกสั้น ออกตามกิ่งพร้อมผลิใบ แต่ละช่อมีได้ถึง ๖ ดอก ดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๑.๘ ซม. มีกลิ่นหอมอ่อน ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขนสั้นนุ่มสีขาวหนาแน่น กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เรียงเป็น ๒ วง กลีบวงนอก ๓ กลีบ กลีบวงใน ๒ กลีบ สีเขียวหรือสีแดงแกมสีเขียว รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๓.๕ มม. ยาว ๕-๗ มม. หนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น มีเส้นกลีบตามยาวหลายเส้น กลีบดอก ๕ กลีบ สีชมพูหรือสีขาว เรียงซ้อนเหลื่อม รูปไข่กลับหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๘ มม. ยาว ๑.๔-๑.๘ ซม. โคนกลีบด้านในมีเกล็ดรูปลิ่ม ยาว ๓-๔ มม. ขอบกลีบเป็นชายครุย มีเส้นกลีบตามยาวหลายเส้น เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มีจำนวนมาก เชื่อมติดกันเป็น ๓ กลุ่ม ยาว ๐.๗-๑.๕ ซม. อับเรณูสีเหลือง เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเปลี่ยนรูปเป็นเกล็ดสีเหลืองหรือสีแดง รูปไข่กว้างหรือรูปเกือบกลม ยาวประมาณ ๑.๕ มม. เรียงสลับกับกลุ่มเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ ยาว ๒-๕ มม. เกลี้ยง มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลหลายเม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๓ ก้าน ยาว ๒-๘ มม. ยื่นเหนือหรืออยู่ใต้กลุ่มเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรีแกมรูปทรงกระบอก กว้าง ๕.๕-๘ มม. ยาว ๑-๑.๗ ซม. สีเขียวหรือสีแดงแกมสีเขียว เมื่อแห้งสีน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาลอมดำ เกลี้ยง มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมี ๖-๘ เมล็ด กลีบเลี้ยงขยายใหญ่และติดทน หุ้มผลประมาณ ๑ ใน ๓ ถึงครึ่งหนึ่งของความยาวผล ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล ก้านผลยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. มีขนสั้นนุ่ม ผลแก่แตกเป็น ๓ เสี้ยว เมล็ดสีน้ำตาล แบน รูปไข่กลับ รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๖-๘ มม. มีปีกบาง

 ติ้วขนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง


ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๙๕๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม เป็นผลเดือนมีนาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา จีนตอนใต้ และภูมิภาคอินโดจีน

 ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับให้ร่มเงา เนื้อไม้ใช้ก่อสร้าง ทำฟืนและถ่าน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ติ้วขน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cratoxylum formosum (Jack) Benth. et Hook. f. ex Dyer subsp. pruniflorum (Kurz) Gogelein
ชื่อสกุล
Cratoxylum
คำระบุชนิด
formosum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Jack, William
- Bentham, George
- Hooker, Joseph Dalton
- Dyer, William Turner Thiselton (Thisleton)
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
subsp. pruniflorum
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Kurz) Gogelein
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Jack, William (1795-1822)
- Bentham, George (1800-1884)
- Hooker, Joseph Dalton (1817-1911)
- Dyer, William Turner Thiselton (Thisleton) (1843-1928)
ชื่ออื่น ๆ
กวยโชง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); กุยฉ่องเซ้า (กะเหรี่ยง-ลำปาง); ตาว (สตูล); ติ้ว (ทั่วไป); ติ้วแดง, ติ้
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย